xs
xsm
sm
md
lg

พบแผ่นดินไหวแม่ลาวปีก่อนกระเทือนโรงพยาบาลที่ขาดความพร้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารผู้ป่วยรพ.แม่ลาว
นักวิจัย สกว.พบผลกระทบแผ่นดินไหวแม่ลาวกระเทือนโรงพยาบาลที่ขาดการเตรียมพร้อมในการพัฒนามาตรฐานอาคารโรงพยาบาลต้านทานแรงแผ่นดินไหว ขณะที่แผ่นดินไหวที่อัฟกานิสถานมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อคหรือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ซ้ำ ชี้เหตุอาคารถล่มเพราะก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 รายแล้วนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรองเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่าธรณีพิบัติครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นโลกอินเดียมุดเข้าใต้แผ่นยูเรเซียในอัตรา 40 มิลลิเมตรต่อปีโดยประมาณ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งตามแนวที่ชนกัน

ทั้งนี้แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่ประเทศเนปาลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เกิดจากการชนกันของแผ่นโลกทั้งสองนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวที่อัฟกานิสถานมีขนาดเล็กกว่าและเกิดขึ้นในระดับที่ลึกกว่า คือ ที่ประมาณ 200 กิโลเมตร ส่วนที่เนปาลมีความลึกเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น จึงคาดการณ์ว่าความรุนแรงน่าจะน้อยกว่าหรือไม่น่าจะมากเท่าที่เนปาล

“อาคารบ้านเรือนที่พังถล่มส่วนใหญ่จะก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น ก่อสร้างจากอิฐที่ทำด้วยดินซึ่งมีน้ำหนักมากและแตกร้าวได้ง่าย บ้านเรือนที่ก่อสร้างใกล้ภูเขาอาจพังถล่มเนื่องจากดินถล่ม ส่วนอาคารที่ก่อสร้างได้มาตรฐานมีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอาจมีการเสียหายและแตกร้าวได้เช่นกัน ทั้งนี้จะต้องจับตาแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นตามมาในแนวนี้อีก เช่น อาฟเตอร์ชอคซึ่งอาจมีขนาดถึง 6.0-6.3 หรืออาจมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่านี้เกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากการกระตุ้นจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวที่อัฟกานิสถานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากระยะทางอยู่ห่างกันมากกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เนปาล” ศ.ดร.อมรกล่าว

ขณะที่ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัย สกว.โครงการ “การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวสำหรับประเทศไทย” จากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงการศึกษาวิจัยแผ่นดินไหวและผลกระทบต่อสถานพยาบาล: กรณีศึกษาโรงพยาบาลแม่ลาว ว่าหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเดือน พ.ค.57 นักวิจัยได้สำรวจพบว่าส่วนโครงสร้างของอาคารโรงพยาบาลได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น เครื่องมือแพทย์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบสถาปัตยกรรมนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้มาก ซึ่งจะส่งผลให้สถานพยาบาลศูนย์เสียศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยและบาดเจ็บฉุกเฉินจากเหตุภัยพิบัติ เนื่องจากขาดการศึกษาและการเตรียมพร้อมในการพัฒนามาตรฐานอาคารโรงพยาบาลต้านทานแรงแผ่นดินไหว

“โรงพยาบาลชุมชนแม่ลาวเป็นสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเชียงรายมากที่สุด และได้รับผลกระทบความเสียหาย จำเป็นต้องอพยพผู้ป่วยทันทีเพราะไม่มั่นใจถึงสภาพโครงสร้างอาคาร ทำให้เกิดปัญหาต่อการกลับเข้าไปใช้งานอาคาร รวมถึงคำถามในการจัดการภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว การศึกษาครั้งนี้จึงเน้นไปถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างความเสียหายและความสูญเสียโอกาสในการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนผู้ประสบภัย ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญเพื่อที่จะลดจำนวนวันที่สถานพยาบาลต้องหยุดการให้บริการภายหลังสภาวะฉุกเฉินเนื่องจากแผ่นดินไหว” ดร.ธีรพันธ์ระบุ

สำหรับผลการศึกษาพบว่าส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างมีความเสียหายบริเวณผนังอาคาร ฝ้า และรอยต่อเชื่อมตัวอาคาร เนื่องจากเป็นผนังที่ก่อสร้างเพิ่มเติมระหว่างสองอาคารจึงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยรอยแตกบนผนังเริ่มจากขอบกำแพงทางด้านข้างและลามไปช่วงบนบ่งชี้ได้ถึงการถล่มของผนังส่วนเหนือขอบหน้าต่างที่สามารถถล่มลงมาทับผู้ใช้อาคารได้ หากแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมารุนแรงกว่านี้ ซึ่งคล้ายกับที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนพานพิทยาคม

“แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ การปรับปรุงและการจัดการลดความอ่อนแอของโรงพยาบาลจึงเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะลดความเสียหายที่จะเกิดกับโรงพยาบาลเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยการลดความเสียหายจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่ไปทั้ง 2 ส่วน คือ งานโครงสร้าง เช่น ขนาด เสา คาน ที่รับนํ้าหนักของอาคาร และงานส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น ผนัง ฝ้าเพดาน อุปกรณ์การแพทย์” ดร.ธีรพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ธีรพันธ์ระบุว่าอาคารโรงพยาบาลยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างไปจากอาคารประเภทอื่น เนื่องจากภายในอาคารจะประกอบไปด้วยระบบไฟฟ้า ประปา ท่อแก๊ส และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อภารกิจการให้ดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที อุปกรณ์เหล่านี้มีมูลค่าสูง จัดหาทดแทนได้ยากและล่าช้า ดังนั้นการปรับปรุงเพื่อลดความอ่อนแอทางด้านโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้างเพื่อให้มีความต้านทานต่อเหตุแผ่นดินไหว จึงสามารถช่วยให้โรงพยาบาลรอดพ้นจากภัยพิบัติ และให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ

ดร.ธีรพันธ์ระบุอีกว่าปัจจุบันการคำนวณเพื่อลดความเสียหายต่องานส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างของอาคารที่มีความสำคัญนั้นเริ่มมีความจำเป็น วิศวกรแผ่นดินไหวจึงกำหนดระดับความเสียหายที่ผู้ใช้อาคารคาดหวังให้เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว แบ่งได้ 4 ระดับความปลอดภัย คือ 1. ระดับความเสียหายเล็กน้อยสามารถใช้งานอาคารต่อได้ทันที เพื่อป้องกันการสูญเสียโอกาสในการใช้งานอาคารภายหลังเกิดเหตุ 2. ระดับความเสียหายเล็กน้อยสามารถใช้งานอาคารได้ เพื่อป้องกันความเสียหายของอาคารและยังใช้หลบภัยได้โดยอาจมีต้องซ่อมแซมบ้างแต่เล็กน้อย 3. ระดับความเสียหายมากแต่ไม่เกิดอันตรายต่อชีวิต เพื่อป้องกันให้อาคารไม่เกิดการถล่มแต่อาจไม่สามารถใช้งานต่อได้ 4. ระดับความเสียหายมากและอาคารไม่ถล่ม เพื่อป้องกันให้อาคารไม่เกิดการถล่มและไม่สามารถปฏิบัติงานได้ภายหลังแผ่นดินไหว

“การลดความเสียหายของสถานพยาบาลโดยการจัดระดับความเสียหายที่ยอมรับได้นั้น เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในสถานพยาบาลต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน แต่การนำไปใช้นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรทางการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ที่จะต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงด้านวิศวกรรม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสถานพยาบาล โดยแผ่นดินไหวในครั้งที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 6.0 สามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย” ดร.ธีรพันธ์สรุป
คลังยาเสี่ยงต่อการหล่นเพราะไม่ยึดให้แน่น
รอยแตกบนผนังกำแพงส่วนต่อเติมระหว่างอาคาร








กำลังโหลดความคิดเห็น