xs
xsm
sm
md
lg

ชวน "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" อีกรอบทางออกเดียวชะลอโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การแสวนาในหัวข้อ วิทยาศาสตร์และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก
ผู้เชี่ยวชาญชี้จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้ต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ทั้งโลก เชียร์บังคับใช้กฎหมายพ่วงยุทธศาสตร์กลไกราคาเพิ่มแรงจูงใจภาคเอกชน ย้ำไทยมีศักยภาพรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนด้วยการใช้วิทย์พื้นฐานสร้างความมั่นคงอาหาร พร้อมขานรับมาตรการสากลรักษาอุณหภูมิ 2 องศาโลก

เป็นเรื่องแปลก .. ที่เรามักเห็นการรณรงค์ลดโลกร้อน การรณรงค์ลดปริมาณขยะผ่านกิจกรรมรอบตัวและสื่อต่างๆ จนเป็นเรื่องชินตา ทว่าปัญหาดังกล่าวกลับยังไม่เคยลดน้อยลงเลยสักวัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของมนุษย์ที่นับวันยิ่งเลวร้ายจนยากเกินเยียวยา

มหกรรมเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Expo 2015) จึงรวบรวมองค์ความรู้ พร้อมด้วยการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนไว้เพื่อเป็นอีกแรงกระตุ้นสังคม ซึ่งหนึ่งในหัวข้อการเสวนาที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์นำมาฝากในวันนี้ เป็นการเสวนาในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก" ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคการศึกษาและภาคเอกชนมาร่วมแสดงทัศนะบนเวทีเสวนาถึง 3 คนจาก 3 สถาบัน

ดร.ปวีณา พาณิชยพิเชฐ ผู้จัดการสำนักวิเคราะห์และประเมินผล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก เพราะก๊าซเรือนกระจกซึ่งประกอบไปด้วยสารประกอบหลัก 3 ชนิด คือ

คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทนและไนโตรเจนไดออกไซด์ มีคุณสมบัติทางเคมีเป็นรังสีอินฟราเรดกักเก็บความร้อน ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนก็เป็นที่ปรักษ์กันดีทั้งการละลายของธารน้ำแข็ง, การเกิดพิบัติภัยต่างๆ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และโรคระบาดต่างๆ ที่อุบัติขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

ดร.ปวีณา กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อยู่ที่กิจกรรมของมนุษย์ในการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไอน้ำในการเดินเครื่องจักร, การผลิตไฟฟ้า และการขนส่งซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเริ่มต้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่มนุษย์เพิ่งตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะสายจน (เกือบ) เกินเยียวยา

ยังน่าดีใจที่ความจวนตัว ทำให้คนทั่วโลกเริ่มเกิดความตระหนักและเกิดการหาลู่ทางใหม่ๆ ในการชะลอภาวะโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องจักรไอน้ำ, การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนฟอสซิล, ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดไฟ, การทำเกษตร-ปศุสัตว์แบบรับผิดชอบ และรณรงค์ลดการเผาในภาคครัวเรือนซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะประชาชนส่วนมากยังคงละเลยและคิดว่าการลดโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว

“วิธีแก้ คือ เราต้องย้อนกลับไปตั้งแต่โลกยังไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำไม่ได้ ทางเดียวคือเราต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ แต่ที่เห็นว่าทำได้ง่ายที่สุดคือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะที่แล้วมาเราไม่เคยมีการควบคุมการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทย ต่างประเทศก็เช่นกัน จะมีก็เพียงบางประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแข็งแรงมากที่มีการกำหนดให้บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ต้องแสดงรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้าในอนาคตมีมาตรการกำหนดปริมาณการปล่อยเพิ่มขึ้นก็จะทำให้บริษัทเกิดการดิ้นรนและพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทางออกที่ถูกต้องแล้วสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ดร.ปวีณา เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ มาตราที่ 2 ของการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) จึงได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญา เพื่อบรรลุการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้มีค่าคงที่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนโดยมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก โดยมีข้อยอมรับร่วมกันในการพยายามรักษาอุณหภูมิอากาศไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่า 2 องศาจากอุณหภูมิอ้างอิงเมื่อก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

“พูดง่ายๆ คือตอนนี้ทั่วโลก มีมติร่วมกันที่จะทำให้ภาวะโลกร้อนของโลกไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ด้วยการพยายามรักษาอุณหภูมิอากาศไม่ให้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะตอนนี้มันขึ้นมาแล้ว 0.85 องศายังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติมากมาย เราจึงต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการดูดซับคาร์บอนในดินเพื่อคงอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้ร้อนไปกว่าเดิม ซึ่งมีการประเมินออกมาแล้วว่าถ้าจะรักษาระดับไว้ที่ 2 องศา ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2593 เราต้องทำให้ภาคพลังงานลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 80% ซึ่งทำได้ยาก แต่ทำได้แน่ ถ้ามีการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับก๊าซเรือนกระจก หรือใช้พลังงานทดแทนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล”

ดร.ชโลทร เผยว่า เป้าหมายคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เปลี่ยนแปลงเกิน 2 องศา เป็นเรื่องทำยากแต่จำเป็นต้องทำ เพราะจากการศึกษาถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในปี 2548 โดยทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ สหราชอาณาจักรฯ ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.6 องศา ในขณะนั้นทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่หลายประการ อาทิ น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดลงถึง 15-20%, ทำให้ปะการังทั่วโลก 82% เกิดการฟอกขาว, 8% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดการสูญพันธ์ ฉะนั้นการรักษาสภาพอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน เช่น การทิ้งขยะ และการไม่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง

นอกจากนี้ ดร.ชโลทร ยังระบุด้วยว่า การสร้างระบบสนับสนุนให้มีการลงทุน เป็นระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยการใช้พลังงานต่ำและกลไกราคาคาร์บอนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความล้มเหลวของการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดจากการที่เอกชนไม่เห็นรายรับและผลประโยชน์ด้านการเงินที่ชัดเจนกว่าการทำอุตสาหกรรมแบบเดิม โดยรัฐบาลอาจจะเข้ามาสนับสนุนด้านการลดภาษีให้กับผลิตภัณฑ์ในตลาดคาร์บอนมากขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจระยะยาวให้กับผู้ประกอบการ

"ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ทำได้แค่บรรเทา จะให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมคงไม่ได้ ที่แน่นอนกว่าคือ การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างแรงจูงใจให้คนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมต้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวขึ้น ก่อนจะเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภาวะโลกร้อนอยู่บ้าง เช่น การลดปริมาณลงของพื้นที่ชุ่มน้ำ, การลดปริมาณลงของพืชผลทางการเกษตรเนื่องมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, ปัญหาอุทกภัยแล้งสุดท่วมสุด ซึ่งถือว่าได้เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ถือว่าเป็นผลกระทบโดยตรงเพราะความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพและพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

วิทยาศาสตร์จึงถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายเชิงวิสัยทัศน์หลักสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศทั้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และ การยกระดับระบบอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยวิสัยทัศน์ทั้ง 4 ข้อ จะถูกขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมด้านทรัพยากรน้ำ, การเกษตร, ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ, อุตสาหกรรมและชุมชน และการพัฒนาความรู้พื้นฐานที่ในแต่ละโปรแกรมจะมีโครงการรับผิดชอบที่แยกย่อยแตกต่างกันไป

“ไทยเรามีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนะ เราช่วยโลกคงสภาพอากาศ 2 องศาได้ เรามีข้อมูลทางวิทยาศษสตร์สิ่งแวดล้อมมากมายแต่เสียที่ตรงมันกระจัดกระจายหมด ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างจริงจัง ถ้าจะรับมือกับโลกร้อนให้สำเร็จจึงต้องเริ่มต้นจากการสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน การรวมฐานข้อมูลแบบเข้าถึงได้ง่าย ที่จะนำไปสู่การมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งระดับกลางและระดับสูง ที่จะมาช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการดูดซับคาร์บอนในดินให้มากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างจิตสำนึกในการลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะคนส่วนมากยังมองว่าทำไมเราต้องทำ ในขณะที่คนอื่นไม่เห็นทำ ต้องทำให้พวกเขาเกิดแรงจูงใจ” ดร.คมศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้งานมหกรรม Climate Change Expo 2015 "เพราะอากาศเป็นใจ" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 ต.ค. 2558 ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK PARK) ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลล์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
การแสวนาในหัวข้อ วิทยาศาสตร์และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก
ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล , ดร.คมศิลป์ วังยาว และ ดร.ปวีณา พาณิชยพิเชฐ







"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น