xs
xsm
sm
md
lg

สสว. จับมือพันธมิตรสร้างผู้ประกอบการ Start-up นวัตกรรม 1 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start-Up)  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 พ.ย.2558
สสว.เดินหน้าสร้างผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Start - up โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคาร SME และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป้าหมายสร้างเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมจำนวน 10,000 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี (2559- 2561) เน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่พึ่งจบการศึกษา และ SME ที่เริ่มทำกิจการได้ไม่เกิน 3 ปี โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งสนับสนุนทางด้านการเงินแบบครบวงจร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start-Up) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จำนวน 9 แห่ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ (Start-Up) จำนวน 10,000 ราย ภายในปี พ.ศ.2561 ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน
โดยมอบหมายให้ สสว. บูรณาการความร่วมมือ พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ การทำงานของสสว. ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตรแปรรูป รวมถึงผู้ประกอบการในทุกๆ วงจรธุรกิจให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจประเทศให้กระจายตัวเพื่อสร้างฐานรายได้ให้สูงขึ้นอย่างมั่นคง และเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า การสร้าง SME รุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมจำเป็นต้องทำร่วมกับสถานศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยมีทักษะในเรื่องการวิจัย และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านนี้โดยตรงกลุ่มเป้าหมายที่จะบ่มเพาะให้เป็นผู้ประกอบการใหม่คือ ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและ SME ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่เกิน 3 ปี โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้ง ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
โดยจะมีการแบ่งบทบาท และขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้ 1. สสว.เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับศูนย์บ่มเพาะ 35 แห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน การบ่มเพาะจะมุ่งเน้นไปยังภาคธุรกิจที่รัฐบาลให้การส่งเสริม และวางเป้าหมายเป็นอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ประการสำคัญที่สุดคือ สสว.จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่ช่วยประคับประคองให้ SMEs ที่เกิดใหม่สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างยอดขาย ความสามารถในการแข่งขัน
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 3)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 4)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 5)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 6)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 7)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 8)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ 9)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งมีวิทยาเขตรวม 35 แห่งกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อาทิ มทร. ธัญบุรีมีจุดเด่นในด้านเกษตรแปรรูปและวิศวกรรม มทร.ล้านนามีจุดเด่นด้านการออกแบบ การทำผลิตภัณฑ์ Lifestyle เป็นต้น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีความพร้อมทางด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์หลากหลายสาขาวิชาชีพ สามารถช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ ให้นำแนวคิดและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนามาสร้างให้เป็นสินค้าและบริการในเชิงพาณิชย์ได้
3. SME BANK เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงทางการเงิน ให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยการให้สินเชื่อหรือร่วมลงทุนและการหาช่องทางการตลาดให้ โดยจะพยายามจูงใจผู้ประกอบการใหม่ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเป็นสมาชิกของ สสว. ทั้งนี้ SME ที่เกิดใหม่มีข้อจำกัดในการขอสินเชื่อ SME BANK จึงอาจต้องใช้วิธีเข้าร่วมลงทุนกับ SME เกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ SME BANK เข้าร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
4. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 120 สมาคม ในทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีส่วนร่วมในการคัดคนรุ่นใหม่เข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ เมื่อจบหลักสูตรการบ่มเพาะ พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการแล้ว สมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจมืออาชีพหลากหลายสาขา จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ พร้อมทั้งจะทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ไปอีกระยะหนึ่งด้วย
บทบาทของทั้ง 4 หน่วยงาน เป็นไปในเชิงบูรณาการ และกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการที่ครบวงจร ในการบ่มเพาะ SMEs รายใหม่ให้เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการประคับประคอง SMEs เกิดใหม่ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น