ก.วิทย์เปิด "โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงด้วยคลื่นวิทยุแห่งแรกในไทย" ที่เชียงใหม่ ช่วยเกษตรกรลดปัญหามอดทำลายข้าวด้วยเทคโนโลยีคลื่นวิทยุความถี่สูง "มอดตาย-รสข้าวไม่เปลี่ยน แถมลดความชื้น" ตัวอย่างการต่อยอดงานวิจัยสู่โรงงานปฏิบัติการใช้จริง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิด "โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ บริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2558
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้าว ถือเป็นผลิตผลทางการเกษตรสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะข้าวไทยมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขาย คือ ปัญหาด้านความชื้นและการถูกแมลงโดยเฉพาะมอดทำลาย เกษตรกรทั่วไปจึงมักใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่วิทยุ และพัฒนาโรงงานต้นแบบในการกำจัดแมลงมาเป็นลำดับ จนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ผ่านการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการขยายขนาดให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ ระบุว่า โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงฯ มีหลักการทำงานจากการประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งมีความสามารถในการแทรกผ่านเข้าไปในชั้นโมเลกุลภายในเมล็ดข้าว จนเกิดการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนล้านครั้งในเวลาหนึ่งวินาที ทำให้เกิดความร้อนสูง ตัวมอดในข้าวและไข่มอดที่ฝังอยู่ในเมล็ดข้าวจึงตาย นอกจากนี้ความร้อนยังลดความชื้นในข้าวได้อีก 1% ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวอีกวิธีหนึ่ง
ด้าน รศ.ดร.วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โรงงานต้นแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการนำผลงานวิจัยตลอดจนกระบวนการมาต่อยอด เพราะนอกจากทำให้ชุมชนและเกษตรกรได้ประโยชน์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว สถานศึกษาก็ยังได้นำงานวิจัยดีๆที่มีอยู่มาส่งต่อ มาใช้จริง และยังเป็นการสร้างนักวิจัย รุ่นใหม่ด้วย
"เรื่องข้าวถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราผลักดันงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้มาถึงปลายทางที่ชาวบ้านเข้าถึงได้แม้อาจจะดูใหม่สำหรับเกษตรกร ผมจึงอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าเทคโนโลยีคลื่นวิทยุมีประโยชน์และใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ และคาดหวังว่าโรงงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้างในอนาคต" รศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าว