xs
xsm
sm
md
lg

ไทยไม่ค่อยเห็น “ฟ้าแบ่งสี” แต่ประเทศเขตหนาวเห็นบ่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพเมฆจากจ.หนองคาย โดยทีมข่าวภูมิภาค
จากกรณีที่มีผู้พบเห็นมวลเมฆบริเวณท้องฟ้าเหนือตัวเมือง จ.หนองคาย แบ่งตัวเป็นเป็นสีเทาและสีฟ้ามีรูปร่างเป็นแผ่นหนาแน่นสวยงามแปลกตา จนเกิดเป็นกระแสส่งต่อในโลกโซเชียล ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยัง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ครั้งนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องก่อนหน้า

- ท้องฟ้าแบ่งสี! ชาวหนองคายตะลึงธรรมชาติจัดสรร

- ตะลึงทั้งบาง! เมฆครึ่งฟ้าคลุมเมืองน่านวัน “เห-มา-ยัน”

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า ภาพเมฆที่ก่อตัวเป็นชั้นตามภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์เป็น “เมฆปกติ” ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ แต่อาจเรียกได้ตามลักษณะที่เห็นเช่น เมฆสองสี, ท้องฟ้าสองสี, ท้องฟ้าแบ่งสี, กำแพงเมฆ หรือ เมฆครึ่งฟ้า โดยเกิดจากการปะทะกันระหว่างอากาศเย็นที่มีความแห้งและอากาศอุ่นที่มีความชื้น

นายวันชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า เมฆลักษณะนี้พบได้บ่อยในต่างประเทศที่อยู่ในเขตหนาว โดยเฉพาะที่ประเทศจีน, ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แต่มีโอกาสพบเห็นได้ยากมากในประเทศไทย แต่เมื่อ 1-2 วันก่อนสามารถพบเห็นได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะในช่วงดังกล่าวตอนเหนือของประเทศไทยมีอากาศเย็นและมีความชื้นต่ำทำให้อากาศแห้ง แต่ทางภาคใต้มีหย่อมความกดอากาศต่ำดึงความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา ทำให้อากาศจากด้านใต้มีทั้งความร้อนและความชื้นสูง เมื่ออากาศที่แตกต่างกันจาก 2 บริเวณมาปะทะกัน ไอน้ำในอากาศจึงยกตัวเกิดเป็นกำแพงเมฆ 2 ฝั่งที่แตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกำชับด้วยว่า เมฆลักษณะดังกล่าวไม่มีความอันตราย ไม่ก่อให้เกิดฝนรุนแรง ไม่ทำให้เกิดลมกรรโชก เหมือนเมฆแนวตั้งคิวมูโลนิมบัส เพียงแค่อาจจะมีรูปร่างประหลาดแตกต่างไปจากเมฆที่พบเห็นประจำวัน และยังถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากในประเทศไทยอีกปรากฏการณ์หนึ่งด้วย

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า เมฆลักษณะนี้แม้จะไม่มีผลต่ออากาศยานแต่มีผลต่อการสังเกตวัตถุท้องฟ้าโดยตรง เพราะการสังเกตวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์จำเป็นต้องทำที่บริเวณฟ้าใส ไม่มีเมฆ ไม่มีแสงสว่างรบกวน แต่อย่างไรก็ดีถือเป็นรูปแบบเมฆที่หาดูได้ยากในประเทศไทย

"คนไทยมักไม่ค่อยเห็นเมฆลักษณะนี้ แต่ในเขตหนาวเกิดได้บ่อย โดยเฉพาะเขตหนาวเย็นที่ติดกับมหาสมุทร ส่วนตัวผมเคยเห็นมาหลายครั้งจึงไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไร แต่ถ้าใครอยากชมเมฆรูปร่างประหลาด ให้หาชมจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วจะทราบว่าเมฆยังก่อตัวพิสดารกว่านี้ได้อีกมาก" ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ภาพเมฆจากจ.หนองคาย โดยทีมข่าวภูมิภาค
ภาพเมฆจากจ.หนองคาย โดยทีมข่าวภูมิภาค
ภาพเมฆจากจ.หนองคาย โดยทีมข่าวภูมิภาค
ภาพท้องฟ้าเหนือ จ.กาฬสินธุ์ โดย นางสาวศรวณี สระเพ็ชร์
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา









กำลังโหลดความคิดเห็น