xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ตั้ง 3 จุดสังเกต “ฝนดาวตกเจมินิดส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สดร.ตั้ง 3 จุดสังเกต “ฝนดาวตกเจมินิดส์" ที่ยอดดอยอินทนนท์ ฉะเชิงเทรา และโคราช ระหว่างคืน 14 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 15 ธ.ค. คาดสูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง เห็นได้ตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่งหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า และเห็นได้ชัดเพราะเป็นคืนเดือนมืด

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2558 "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ คืนวันที่ 14 ธ.ค.58 ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. เป็นต้นไป จนถึงเช้ามืดวันที่ 15 ธ.ค.58 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หากฟ้าใส เห็นได้ทุกภูมิภาคของไทย แนะชมในที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน จะเห็นได้ชัดเจน ปีนี้เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นอย่างยิ่ง เพราะตรงกับคืนเดือนมืด ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ จึงไม่มีแสงจันทร์รบกวนตลอดคืน คาดอาจมีอัตราตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ สดร.จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันที่ 14 ธ.ค.58 ทั้งหมด 3 จุด ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่

1. เชียงใหม่ - ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จัดกิจกรรมบริเวณจุดสูงสุดแดนสยาม ณ ยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (สอบถามโทร. 053-225569 ต่อ 305 , 081-8854353)

2. นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง นครราชสีมา (สอบถามโทร. 044-216254 , 086-4291489)

3. ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (สอบถามโทร. 038-589396 , 084-0882264)

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธ.ค.ของทุกปี คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลัง ดวงจันทร์ลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. ของคืนวันที่ 14 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธ.ค. และอาจมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

"จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ระหว่างดาวพอลลักซ์ และดาวคาสเตอร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นได้ในทุกภูมิภาคของไทย ประกอบกับในคืนดังกล่าวเป็นคืนเดือนมืดดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน นับเป็นโอกาสดีที่จะสามารถสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน" รอง ผอ.สดร.ระบุ

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกพัพพิดส์-เวลิดส์ ในคืนวันที่ 9 ธ.ค. อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเออร์ซิดส์ ในคืนวันที่ 22 ธ.ค.58 อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง จึงถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง







"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น