xs
xsm
sm
md
lg

“คิดถึงภูชี้ฟ้า...คะนึงหาทะเลหมอก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ยามบ่ายของวันพุธ ขณะที่ผมกำลังตั้งใจปล่อยความคิดไปกับการนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยในวิชาสัมมนาวิทยานิพนธ์ ที่นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทุกคนต้องเข้าร่วมสัมมนาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เสียงเม็ดฝนกระทบเข้ากับกระเบื้องดินเผาหลังคาตึกขาวอันเป็นตึกปฏิบัติการณ์ทางวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย สร้างความประหลาดใจให้กับผม

ความฉงนว่าเหตุใดสายฝนจึงโปรยปรายลงมาในช่วงนี้ของผม  ถูกไขกระจ่างจากการเปิดปฏิทินอิเล็คทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ  มันให้ข้อมูลว่านี่เป็นช่วงเดือนของเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ช่วงเวลาที่เรามักเรียกกันอย่างติดปากว่า “ปลายฝน ต้นหนาว” ผู้คนมากมายเฝ้ารอคอยรอช่วงเวลานี้ของปีอย่างจดจ่อ เพราะจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นบนยอดดอยสูง ผมเองก็เป็นหนึ่งในท่ามกลางผู้คนเหล่านี้อันด้วยเนื่องจากค่อนข้างชื่นชอบสภาพอากาศที่หนาวเย็น แต่เพราะส่วนตัวมีความสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาสิ่งมีชีวิตกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานทำให้ชีวิตต้องเข้าไปพัวพันกับความชื้นแฉะอยู่อย่างสม่ำเสมอ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบช่วงนี้ของปีก็เนื่องมาจากสภาพของผืนป่าอันเป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างสองช่วงฤดู ความเขียวชะอุ่มของต้นไม้ที่ได้รับความชุ่มชื้นจากฤดูฝนผสมผสานกับสายลมที่หอบอากาศแห้งเย็นยะเยือกมาปะทะผิวกายของฤดูหนาว นอกเหนือจากนี้อีกสิ่งหนึ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้คือ “ทะเลหมอก” แสงอาทิตย์ในยามเช้าของวันใหม่กระทบสายหมอกที่รวมตัวกันเป็นผืนใหญ่ท่ามกลางขุนเขา สร้างความสุขให้ผมได้เสมอ

... การนำเสนอความก้าวหน้าในงานวิจัยยังคงดำเนินต่อไป แต่ขอสารภาพตามตรงว่าใจของผมได้หลุดลอยไปยังสถานที่ที่ไกลแสนไกลจากห้องนั้น ผมคิดถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่เคยไปเยือนเมื่อปีก่อน สถานที่ที่สามารถยืนสัมผัสกับสายลมเย็นพร้อมๆ กับชื่นชมทัศนียภาพของทะเลหมอกที่ต้องกับแสงอาทิตย์ยามเช้า ณ จุดชมวิวบนยอดผาภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย ...

ผมหวนนึกไปถึงการเดินทางในครั้งนั้น การขับรถยนต์ส่วนตัวตลอดระยะทางเกือบแปดร้อยกิโลเมตรจากกลางเมืองหลวงไปจังหวัดเชียงรายไม่ได้สร้างความลำบากเหนื่อยยากให้กับผมเลย อาจเนื่องด้วยความคุ้นเคยกับการขับรถในเส้นทางขึ้นภาคเหนือที่ผมต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลอยู่เป็นระยะ แต่เมื่อเริ่มเดินทางใกล้เข้าไปยังจุดหมาย ความคดเคี้ยวตามขุนเขาลาดชัน พื้นผิวถนนที่ชำรุดและเป็นหลุมบ่อในบางช่วง กอปรกับความเปียกลื่นจากสายฝนที่โปรยปรายกับสายหมอก ทำให้ผมต้องใช้ความระมัดระวังที่มากขึ้นและตัดสินใจใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อความปลอดภัยสำหรับระยะทางที่เหลือ เมื่อถึงวนอุทยานภูชี้ฟ้า ผมเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ตั้งใจจะมากางเต้นท์พักแรมมาเป็นพักในห้องพักของทางเอกชน เนื่องจากช่วงเวลานั้นไม่ใช่ช่วงวันหยุดจึงมีห้องพักของเอกชนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ ว่างมากมาย เต้นท์นอนหลังเล็กที่เตรียมมาจึงไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน ถึงแม้ผมจะเลือกพักในห้องพักในราคาไม่เกินหนึ่งพันบาทในห้องก็ยังมีที่ว่างบนเตียงเหลืออีกหลายที่ ซึ่งราคาเดียวกันนี้ถ้าเป็นการพักโรงแรมในเมืองใหญ่ผมคงจะสะดุดหัวคะมำเข้ากับสัมภาระของตัวเองในขณะเดินไปเข้าห้องน้ำ

วิวมุมสูงที่สามารถมองเห็น หมู่บ้านชาวเขาเล็กๆ ทิวเขาสลับไปมา และป่าเขียวชะอุ่มในช่วงปลายฝนจากระเบียงห้องยังทำให้ผมรู้สึกสดชื่นตามไปด้วย ผมนั่งมองวิวจากระเบียงนั้นจนแสงอาทิตย์เกือบจะหมดจึงได้กลับเข้าห้องพักเพื่อจัดเตรียมสัมภาระสำหรับวันรุ่งขึ้นจนกระทั่งได้เวลาอาหารมื้อเย็น การที่ได้สนทนากับเจ้าของห้องพักในมื้ออาหารเย็นโดยที่มีเครื่องดื่มมีดีกรีเป็นเครื่องมือช่วยทำให้ผมทราบข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการขึ้นไปชมทะเลหมอกว่า ถ้าในคืนนี้มีฝนตกลงมาก็จะมีโอกาสสูงมากที่จะได้เห็นทะเลหมอกในวันพรุ่งนี้ เมื่อเนื้อหาของการสนทนาพุ่งไปไกลเท่าๆ กับเสียงการพูดคุยที่ดังขึ้น ผมจึงขอตัวไปพักผ่อน อาการเหนื่อยล้าจากการขับรถระยะทางไกลเริ่มมีให้เห็น (ยังมิได้คิดถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด) เวลา 5.00 น. คือเวลาที่ผมตั้งปลุกบนโทรศัพท์มือถือ ก่อนที่จะเอนหลังลงเตียงนอนเสียงร้องของตุ๊กแกบ้านและนกตบยุงหางยาวที่แผ่วลงกับเสียงสายฝนที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมมีรอยยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก ก่อนที่จะหลับไปอย่างรวดเร็ว …

4.30 น. ไม่มีเสียงฝนแล้ว ผมตื่นขึ้นมาก่อนเวลาที่ได้ตั้งปลุกไว้ในโทรศัพท์มือถือ อาจจะเป็นเพราะความตื่นเต้นแต่ก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะนั่นหมายถึงเวลาที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการเดินไปยังจุดชมวิว เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจส่วนตัวการเดินทางก็เริ่มต้นอีกครั้ง เสียงเครื่องยนต์ของรถดับลงเมื่อถึงลานจอด รอบตัวยังคงมืดอยู่ ผมหยิบไฟฉายแบบคาดหัวมาสวมและเปิดใช้งาน กระเป๋ากล้องพร้อมขาตั้งถูกสะพายขึ้นหลัง ส่องไฟไปยังเส้นทางเดินทอดสูงชันตรงหน้าและแล้วการเดินขึ้นโดยมียอดหน้าผาเป็นเป้าหมายก็ได้เริ่มต้นขึ้น

แสงจากไฟฉายคาดหัวทำให้เห็นว่าพื้นทางเดินค่อนข้างเรียบลื่นและยังไม่แห้งดีนัก ร่องรอยการเดินย่ำเป็นระยะเวลานานทำให้พื้นดินแน่นและไม่มีพรรณพืชอะไรสามารถเจริญงอกงามขึ้นได้แตกต่างจากสองข้างทางเดินแน่นไปด้วยหญ้าสูงขนาดท่วมหัว ต้นสนและต้นก่อขนาดเล็กมีให้เห็นประปราย อาจจะเนื่องมาจากสภาพของดินเป็นดินตื้นและความลาดชันของพื้นที่ใกล้หน้าผาทำให้ไม่มีไม้ใหญ่ในบริเวณนี้ก็เป็นได้นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิด

การเดินครั้งนี้ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค หากแต่เป็นความลาดชันอีกทั้งน้ำหนักของสัมภาระที่แบกอยู่ที่ทำให้รู้สึกถึงความยากลำบาก หลายครั้งที่ทิ้งตัวหยุดพักระหว่างทาง หลายครั้งที่ขาตั้งกล้องกลายสภาพเป็นไม้ค้ำยังร่างกาย หลายครั้งที่เกือบลื่นล้มเพราะน้ำค้างยอดหญ้า เม็ดเหงื่อไหลที่ซึมออกมาชุ่มตามลำตัวและใบหน้าเพราะความล้ากับอุณหภูมิอันเย็นยะเยือกยามรุ่งสางช่างขัดกันเสียจริง เมื่อเห็นพื้นที่เตียนโล่งด้านหน้าหลังพ้นจากดงหญ้าสูงกับป้ายบอกชื่อสถานที่ทำให้ผมรู้ว่าที่สุดก็มาถึงจุดหมายจนได้ ถึงกระนั้นเสียงตะโกนแสดงความยินดีที่ควรมีกลับกลายเป็นเสียงหอบหายใจเหนื่อยแทน ด้วยอายุที่มากขึ้นและแรงกายที่อ่อนล้าส่งผลให้การทรมานร่างกายครั้งนี้ใช้เวลาร่วมหนึ่งชั่วโมงเศษแต่ความรู้สึกข้างในส่งเสียงโอดโอยว่าน่าจะยาวนานกว่านั้น สัมภาระบ้าหอบฟางถูกวางไว้ข้างก้อนหินที่นั่งพัก บรรยากาศรอบตัวยังคงสลัว

ผมมองไปยังทิศตะวันออกแม้จะเริ่มเห็นแสงรำไรแต่ท้องฟ้ายังคงมืดมิด พระอาทิตย์ยังไม่โผล่ขึ้นจากเส้นขอบฟ้า ผมนั่งพักให้หายจากการเหนื่อยหอบอยู่ครู่ใหญ่ถึงจะเริ่มประกอบกล้องถ่ายรูป เลนส์และขาตั้งกล้องเข้าด้วยกัน ก่อนนำไปวางไว้ยังตำแหน่งที่เลือกเอาไว้ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยการเฝ้ารอโดยมีความเงียบเป็นเพื่อนเป็นสิ่งที่ผมเลือกทำ ...

ความมืดสลัวเริ่มหายไป สภาพภูมิประเทศเริ่มเด่นชัดขึ้นในสายตา ผาภูชี้ฟ้าเป็นยอดผาสูงที่เปิดโล่งไม่มีไม้ต้น มีเพียงต้นหญ้าเล็กๆ และไม้ดอกบางชนิดที่ไหวเอนไปมาตามแรงลมเท่านั้น จุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว ในช่วงที่ฟ้าเปิดและไม่มีเมฆหมอกจุดนี้สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงและประเทศลาวได้อย่างชัดเจน บริเวณขอบหน้าผาถ้าสังเกตมองจากพื้นส่วนที่ต่ำกว่าจะเห็นเป็นปลายแหลมยื่นชี้ออกไปหาท้องฟ้าอันเป็นที่มาของชื่อสถานที่ เมื่อมีแสงมากขึ้นผมเริ่มเห็นผู้คนทะยอยเดินขึ้นมายังจุดชมวิวเรื่อยๆ หลายคนจับจองมุมเพื่อถ่ายรูป หลายคนเดินสำรวจพื้นที่ไปมาหลายคนจับกลุ่มคุยกัน และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ในยุคสมัยนี้การถ่ายรูปเซลฟีตัวเองด้วยโทรศัพท์มือถือ ความเงียบของพื้นที่เริ่มหายไปแต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงได้ยินเสียงนกโพระดกธรรมดาและนกตั้งล้อที่ร้องรับกับแสงของวันใหม่

พระอาทิตย์เริ่มลอยสูงขึ้นทีละน้อยโผล่พ้นเส้นขอบฟ้าเผยให้เห็นม่านหมอกที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาเบื้องหน้า เสียงที่เคยเอ็ดอึงได้หายไปแล้วความสงบกลับมาเยือนอีกครั้ง ผมรู้สึกได้ว่าสายตาทุกคู่เพ่งไปยังด้านทิศตะวันออกจับจ้องไปยังการแสดงระหว่างแสงแดดและทะเลหมอกท่ามกลางขุนเขา ภาพสายหมอกที่เคลื่อนไหวไปตามแรงลม แสงแดดไล่เลียดไปตามรอยคลื่นของทะเลหมอกผืนใหญ่ที่ลอยต่ำอยู่ใต้ยอดผาทอดไกลสุดตาสะกดทุกสายตาของผู้ที่กำลังมองมัน นกนางแอ่นลายบินล้อกับลมแรงริมหน้าผา เวลานี้ก็มีแต่นกเท่านั้นที่ยังคงร้องและหากินโดยที่ไม่ได้ตื่นตะลึงไปกับภาพทิวทัศน์ตรงหน้า สายลมเย็นที่พัดมากระทบผิวทำให้หลายคนจิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่ได้ตระเตรียมกันมา ไม่นานเสียงเปิดปิดม่านชัตเตอร์ของกล้องถ่ายรูปทั้งหลายก็ดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆ (รวมทั้งการถ่ายรูปเซลฟีด้วย)

ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าสร้างความประทับใจอย่างมากให้แก่ผมและเชื่อว่าผู้คนรอบข้างคงจะรู้สึกไม่ต่างกัน ผมมุ่งความสนใจไปกับเก็บภาพความประทับใจอยู่นานและตกใจเมื่อสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมากมายรอบตัว ผมจึงหลีกทางและปลีกตัวออกมาเฝ้ามอง ผู้คนมากมายมีทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ (ที่ยังเดินเหินได้สะดวก) กำลังดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติร่วมกัน เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มแรงและอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นผมเก็บอุปกรณ์ถ่ายรูป เก็บขาตั้งกล้อง สะพายกระเป๋าขึ้นหลังและเดินจากมาพร้อมกล่าวคำอำลาให้กับสถานที่อย่างเงียบๆในใจ

ระหว่างเดินลงจากยอดผาจุดชมวิวผมส่งยิ้มให้กับผู้คนที่ยังคงพากันเดินขึ้นมาตามทางนั้นพลางคิดยินดีในใจที่ว่า โชคดีที่ผมยังคงมีเพื่อนมากมายที่ชื่นชอบและชื่นชมในธรรมชาติอันงดงามอยู่ และผมหวังไว้ลึกๆ ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังในการช่วยกันรักษ์ความงามนี้เอาไว้ให้อยู่คู่โลกต่อไป ...

เสียงปรบมือให้กับผู้นำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยคนสุดท้ายของสัปดาห์นี้ดังขึ้น ดึงผมออกจากภวังค์ความคิดถึงเวลาเมื่อวันวาน เมื่อสิ้นสุดคาบวิชาขณะก้าวขาออกจากห้องสัมมนา ผมยังคิดถึงภาพของ “ทะเลหมอก” ที่ยอดผาแห่งนั้น ...

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน









กำลังโหลดความคิดเห็น