xs
xsm
sm
md
lg

ยกย่อง 6 นักวิจัยหญิงเก่งรับทุน "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ปี 13

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารลอรีอัลแสดงความยินดีกับ 6 นักวิจัย
6 นักวิจัยหญิงไทยรับทุนลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ปีที่ 13 หลังสร้างผลงานวิจัยสุดล้ำจากการหาตัวบ่งชี้ในเลือดและปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยมะเร็ง-การคัดเลือกเชื้อราไขมันสูงสำหรับผลิตไบโอดีเซล-การปรับปรุงสมบัติยางเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียว-การสังเคราะห์เซโคลิกแนนจากสมุนไพรและการผลิตก๊าซธรรมชาติจากไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด มอบทุนโครงการทุนลอรีอัลประเทศไทยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (for woman in Science) โดยความร่วมมือของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ (ยูเนสโก) แก่ 6 นักวิจัยสตรีไทยผู้สร้างคุณูปการด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 58 ณ โรงแรมเจ ดับบลิว มารีออท กรุงเทพฯ

ในปีนี้คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิระดับประเทศในสายงานด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการฯ ได้คัดเลือกและมอบทุนให้แก่ 6 นักวิจัยสตรี จากทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, สาขาวิทยาศาสตร์เคมี และสาขาวัสดุศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 250,000 บาทต่อทุน โดยใช้หลักเกณฑ์การให้คะแนนจากคุณค่าจากงานวิจัยต่อสังคม, กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัตถุประสงค์โครงการ, จริยธรรม และการยอมรับในวงการวิจัย

ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัล 2 คน ได้แก่ ผศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงาน การค้นหาตัวบ่งชี้ชีวภาพในเลือดและปัสสาวะเพื่อใช้ในการคัดกรองและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี และ รศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากผลงาน การคัดแยกและการคัดเลือกเชื้อราไขมันสูงเพื่อประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนวัสดุเศษเหลือลิกโนเซลลูโลสโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มให้เป็นน้ำมันสำหรับผลิตไบโอดีเซล

สาขาวัสดุศาสตร์ มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัล 2 คน ได้แก่ รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ หน่วยวิจัยพลังงานยั่งยืนและวัสดุสีเขียว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัล 2 คน ได้แก่ ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงาน การสังเคราะห์สารประเภทเซโคลิกแนนที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และ ผศ.ดร.ภัทรพร คิม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงาน การผลิตก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์จากไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเซลล์อิเล็กโตรไลซิสแบบออกไซด์ของแข็ง

ผศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวถึงงานวิจัยของตัวเองว่า เป็นการศึกษาเพื่อหาตัวบ่งชี้ชีวภาพในระดับโมเลกุล ด้วยการพัฒนาชุดตรวจเลือดและปัสสาวะที่สามารถบ่งบอกความสัมพันธ์กับภาวะการหนาตัวของท่อน้ำดีในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี แทนวิธีอัลตร้าซาวด์ซึ่งชาวบ้านเข้าถึงได้ยาก ด้วยการพัฒนาชุดตรวจตัวบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีจากปัสสาวะและเลือด ซึ่งจะช่วยให้คัดกรองผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกทำให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นำมาสู่การรักษาแบบทันท่วงที ช่วยลดความสูญเสีย

รศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพอีกคน กล่าวว่า ผลงานของเธอเป็นการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เดิมเป็นวัสดุไร้ค่าให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งในรูปของน้ำมันไบโอดีเซล ด้วยการคัดแยกและเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ไขมันสูงบนวัสดุเศษเหลือพวกลิกโนเซลลูโลสที่พบมากในกองทะลายปาล์ม ซึ่งมีความสามารถใช้เลี้ยงจุลินทรีย์สร้างน้ำมันได้ ดีกว่า การเพาะเลี้ยงบนวัสดุทั่วไปต้องนำไปผ่านการย่อยให้เป็นน้ำตาลก่อน เป็นการลดขั้นตอนและยังทำให้ได้น้ำมันที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันที่หลากหลาย

ด้าน รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับทุนด้านวัสดุศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานของเธอเป็นการนำขยะให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาสมบัติของยางชีวภาพให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จริง ด้วยการใช้สารเสริมแรงชนิดใหม่ๆ มาทดแทนสารเสริมแรงจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนตที่ได้จากการระเบิดเขาหินปูนมาใช้กระดองหมึกซึ่งเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดเดียวกันแทน, การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมจากยางธรรมชาติอีกหลายรายการ และการพัฒนากระบวนการรีไซเคิลยางให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ผู้รับทุนด้านวัสดุศาสตร์อีกคน อย่างรศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ หน่วยวิจัยพลังงานยั่งยืนและวัสดุสีเขียว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า งานของเธอเป็นการหาวัสดุใหม่เพื่อบำบัดมลพิษ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่ายและโลหะหนัก โดยมุ่งพัฒนาให้วัสดุใหม่ที่พัฒนาได้มีสมบัติตามที่ต้องการ ทั้งการพัฒนาตัวเร่งปฏิกริยาที่สามารถใช้ได้ง่าย ไม่ยุ่งยากและสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้าน ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนจากสาขาเคมี เผยว่างานวิจัยของเธอเป็นการหาวิธีการใหม่ๆ ในการสังเคราะห์สารในสมุนไพรจำพวกเซโคลิกแนนซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยเป็นการพัฒนาเทคนิคการสกัดให้ยังคงสภาพโครงสร้าง 3 มิติทางเคมี ที่จะช่วยให้การศึกษาต่อยอดทางการแพทย์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ในส่วนของ ผศ.ดร.ภัทรพร คิม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับทุนสาขาเคมี กล่าวว่า งานวิจัยของเธอมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์โดยการเปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซสังเคราะห์ โดยเฉพาะไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ท้ายสุด สิตานัน สิทธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอริอัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการตัดสินผลงานวิจัยของลอรีอัล ได้ขยายโอกาสให้มีนักวิจัยสตรีได้รับทุนถึง 6 ทุน แบ่งเป็นสาขาละ 2 ทุน จากเดิมที่แต่ละปีจะมีเพียงแค่ 4-5 คนเท่านั้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้เยาวชนและนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ๆ เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการตั้งมั่นในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่ 3 จากซ้าย)
ผศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ หน่วยวิจัยพลังงานยั่งยืนและวัสดุสีเขียว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.ภัทรพร คิม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล








กำลังโหลดความคิดเห็น