xs
xsm
sm
md
lg

“ด้วงแอฟริกัน” ศัตรูตัวใหม่คุกคามฟาร์มผึ้งเลี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เตรียมจับตาด้วงแอฟริกันบุกผึ้งไทย
นอกจากศัตรูคู่อาฆาต อันดับหนึ่งของผึ้งอย่าง “ไรวารัว” จะสร้างความเสียหายแก่รังและผึ้งพันธุ์ได้อย่างร้ายกาจแล้ว ปรมาจารย์ด้านผึ้งระดับโลกยังประกาศด้วยว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญหน้ากับศัตรูผึ้งชนิดใหม่อย่าง “ด้วงแอฟริกัน” สุดยอดแมลงฉวยโอกาส ที่เคยสร้างความพินาศให้กับฟาร์มผึ้งในออสซี่และมะกัน ที่ในปัจจุบันกำลังคืบคลานไปทั่วโลก และ “ไทย” อาจจะเป็นเป้าหมายโจมตีของด้วงชนิดนี้อีกในไม่ช้า

ศ.ดร.ปีเตอร์ นิวแมนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโลก (COLOSS) กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการมาตรฐานฟาร์มผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งสู่ระดับสากล ประจำปี 2558 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งไทย ในเดือน พ.ย.58 ณ จ.เชียงใหม่ ว่านอกจากโรคผึ้งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลกตระหนักดีว่า “ศัตรูผึ้ง” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

หนึ่งในศัตรูผึ้งตัวสำคัญคือ “ไรวารัว” ไรขนาดเล็กที่สามารถฆ่าผึ้งและแพร่เชื้อไวรัสให้สามารถระบาดไปทั้งรังได้ใน เวลาอันรวดเร็ว รวมถึงโปรโตซัวและผีเสื้อชนิดอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายแก่รังเป็นอันดับลดหลั่นตามกันมา แต่เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ขณะยังเป็นแค่นายนิวแมนน์นั้นเขาได้พบกับแมลงหน้าตาประหลาดตัวสีดำชนิดหนึ่งกำลังบุกรุก ทำลายรังผึ้งซึ่งทำให้เขาเดือดร้อนมาก เพราะรังที่แมลงหน้าใหม่เข้ามารุกรานเป็นรังของผึ้งที่เขาเลี้ยงไว้สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่แอฟริกา

นอกจากแมลงดังกล่าวจะทำให้รังผึ้งชำรุดเสียหายไม่สามารถศึกษาหรือเก็บน้ำผึ้งได้อีกต่อไป ยังทำให้ผึ้งตายและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งเป็นอย่างมาก จนนิวแมนน์ต้องเก็บตัวอย่างไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยวินิจฉัยและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูก็ระบุได้ทันทีว่าคือ “Small Hive Beetle” หรือ “ด้วงแอฟริกัน” ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็นโจทย์วิจัยใหม่สำหรับเขา

ศ.ดร.นิวแมนน์ กล่าวว่า ด้วงแอฟริกัน เป็นแมลงชนิดหนึ่งในวงศ์แมลงปีกแข็ง (Order Coleoptera) มีจุดกำเนิดที่ทวีปแอฟริกา มีวงจรชีวิต 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อน, ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย เป็นแมลงปีกแข็งที่เติบโตไวในระยะ 14-90 วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากอากาศร้อนจะยิ่งเจริญเติบโตไว บินไวและบินได้อึดมาก มีความสามารถในการโจมตีรังผึ้งสูงทำให้กลุ่มประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วงแอฟริกันตัวเมียจะวางไข่ในรังผึ้งเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง จากนั้น 3-4 วันก็ฟักออกมาเป็นตัวหนอน และตกลงมาสู่ดิน หนอนของด้วงชนิดนี้มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร และคืบคลานได้เป็นระยะทางนับ 100 เมตรและพร้อมโจมตีรังผึ้งพันธุ์รังทันทีเมื่อโตเต็มวัย

พฤติกรรมของด้วงดังกล่าวทำให้มันเป็นแมลงที่ต้องศึกษาและจับตา เนื่องจากตอนแรกพบการระบาดอยู่แค่ที่อเมริกาใต้, ออสเตรเลียและแอฟริกา แต่ตอนนี้ ศ.ดร.นิวแมนน์ระบุว่า พบด้วงแอฟริกันเริ่มกระจายไปรอบโลกแล้ว โดยมีรายงานพบด้วงแอฟริกันกระจายเป็นบริเวณกว้างตามประเทศต่างๆ ทั้งทางแถบยุโรป, เมดิเตอร์เรเนียน, อเมริกาเหนือ และล่าสุดคือทวีปเอเชีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม แต่ยังโชคดีที่ด้วงที่ค้นพบที่เวียดนามเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงไม่ใช่ด้วงแอฟริกันแต่ก็เสี่ยงมากอยู่ดี

"เรื่องนี้ผมไม่ได้ขู่นะ แต่บอกไว้เลยว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากจริงๆ เพราะอากาศที่นี่นอกจากจะเป็นสวรรค์ของชาวต่างชาติอย่างผมแล้ว ยังเป็นสวรรค์ของผึ้งและด้วงชนิดนี้ด้วย ผมจึงจำเป็นต้องมาบอกให้พวกคุณที่เป็นผู้เลี้ยงผึ้งให้ได้ด้ตื่นตัวกัน ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือซื้อผึ้งพันธุ์มาจากต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจได้ของแถมไม่ได้รับเชิญอย่างตัวอ่อนหรือไข่ของด้วงมากับผลิตภัณฑ์ ” ศ.ดร.นิวแมนน์กล่าว

ศ.ดร.นิวแมนน์ยังฉายความน่ากลัวต่อไปอีกว่า นอกจากด้วงแอฟริกันจะบินได้ไกลและนานแล้ว ความสามารถในการกินยังนับว่ายอดเยี่ยม เพราะจากการทดลองของเขาพบว่า ด้วงแอฟริกันเพียงไม่กี่ตัวสามารถทำลายรังผึ้งพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงจำนวน 10 เฟรมได้ภายใน 5 วัน และมากไปกว่านั้นคือด้วงแอฟริกันกินทุกอย่างในรังผึ้งเป็นอาหารได้ ตั้งแต่รัง, ตัวผึ้ง, น้ำผึ้ง, ไขผึ้ง ไปจนถึงผักและผลไม้หลายชนิดโดยเฉพาะกล้วยเน่าที่เขาเองเคยทำการทดลองครั้งทำงานวิจัยที่แอฟริกา

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่า คือด้วงแอฟริกันมีแนวโน้มสร้างความเสียหายให้กับผึ้งพันธุ์อื่นๆ อย่างผึ้งหลวง, ผึ้งมิ้ม, ผึ้งหึ่ง หรือแม้แต่ชันโรงที่เป็นผึ้งประจำถิ่นสายพันธุ์ดีของไทยได้ด้วย ซึ่งถ้ามีการระบาดขึ้นจริงวงการสัตววิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพคงปั่นป่วนกันไม่น้อย

สำหรับแนวทางการจัดการ ศ.นิวแมนน์ ระบุว่า ประกอบด้วย 7 ข้อหลักด้วยกัน ตั้งแต่ “การดูแลผึ้งและนางพญาให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ” ด้วยการตรวจเฟรมผึ้งในลังเลี้ยงให้บ่อยขึ้น เพิ่มจำนวนผึ้งไม่ให้น้อยเกินไป รวมถึงสังเกตโคโลนีของผึ้ง ถ้าปิดมากก็แปลว่าผึ้งมีสุขภาพดีมาก สำหรับข้อต่อมาคือ “การรักษาความสะอาด” เพราะบริเวณรังผึ้งที่มีคราบน้ำผึ้งหรือขยะหมักหมมสกปรกจะเป็นตัวเรียกด้วงแอฟริกันชั้นดี และยังทำให้น้ำผึ้งที่ได้ไม่บริสุทธิ์อีกด้วย

ข้อที่สาม “อย่าเก็บน้ำผึ้งจากรวงผึ้งเก่า” เพราะมีโอกาสปนเปื้อนตัวอ่อนด้วงสูง แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บ ควรทำที่อุณหภูมิต่ำกว่า -4 องศา หรือในพื้นที่ปิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ส่วนข้อสี่การผลิตน้ำผึ้ง คือ “ต้องปั่นเหวี่ยงน้ำผึ้งด้วยความเร็ว” ไม่ควรทิ้งรังผึ้งไว้กลางแจ้งนาน เพราะเป็นตัวนำพาด้วงอีกเช่นกัน

ข้อห้า “ต้องมีประชากรในรังผึ้งสูง” อย่าให้รังว่าง หรือมีผึ้งน้อยเกินไป เพราะจากการทดลองของเขาที่แอฟริกา ที่พยายามนำเฟรมผึ้งที่มีผึ้งจำนวนน้อยไปวางไว้ใกล้ๆ กับกำแพงรังผึ้ง พบว่าไม่ถึง 5 วันจะมีตัวอ่อนของด้วงเจริญขึ้นแทนที่ เหตุผลเดียวกับแนวทางของข้อหกที่ “ห้ามวางรังผึ้งชิดกันมากเกินไป หรือชิดขอบมากเกินไป” เนื่องจากตัวหนอนวัยอ่อนของด้วงชอบรังผึ้งในลักษณะนี้มาก ส่วนข้อสุดท้ายคือ “การระวังไม่ให้มีไรวารัว” ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผึ้งอ่อนแอ

นอกจากนี้ ศ.นิวแมนน์ ยังเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า นอกจากการป้องกันที่ทุกฟาร์มควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว การใช้กับดักด้วงในรังผึ้ง, การประยุกต์ทางเข้าออกของผึ้ง และการใช้ยาฆ่าแมลงก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่เกษตรกรในประเทศที่ประสบปัญหาด้วงแอฟริกันนิยมใช้ แต่ในภายหลังการใช้สารเคมีก็เริ่มน้อยลงเพราะคนห่วงปัญหาสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาแนวทางใหม่ๆ เช่น การกำจัดทางชีววิธีที่เขาเคยอ่านพบในวารสารวิชาการฉบับหนึ่งว่ามีคนกำลัง ศึกษา “ราฆ่าด้วง” แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดฆ่าด้วงได้สำเร็จเหมือนกับการใช้สาร เคมี

“การป้องกันน่าจะง่ายกว่าการแก้ไข ประเทศไทยยังโชคดีที่มีบทเรียนอันย่อยยับจากฟาร์มผึ้งในสหรัฐฯ และออสเตรเลียเป็นตัวอย่าง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันระแวดระวังสอดส่องผึ้งของตัวเองอยู่เสมอก็ จะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น เพราะถ้าเจ้าด้วงแอฟริกันนี้เข้ามายังประเทศไทยจริงๆ มันจะเป็นศัตรูที่อันตรายแก่ผึ้งเป็นอันดับ 2 รองจากไรวารัวที่ยังครองอันดับหนึ่ง และสูงกว่าโปรโตซัวโนซีนา และผีเสื้อไขผึ้งที่เราคุ้นเคยกันอย่างแน่นอน” ศ.ดร.นิวแมนน์กล่าวทิ้งท้าย
ด้วงแอฟริกันที่ระบาดคือ ตัวทางด้านซ้ายมือ ส่วนทางขวาคือด้วงที่ระบาดในประเทศเวียดนาม
บริเวณสีน้ำตาลคือพื้นที่เดิมที่เป็นจุดกำเนิดของด้วงแอฟริกัน แต่ในขณะนี้มันได้แพร่พันธุ์ออกไปทั่วโลกแล้วตามบริเวณที่เป็นจุดสีเหลืองบนแผนที่
ผึ่้งที่มีสุขภาพดี จะมีรังเป็นลักษณะปิดแบบในภาพ
ศ.ดร.ปีเตอร์ นิวแมนน์ นักกีฏวิทยาชำนาญการชาวสวิตเซอร์แลนด์  ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโลก
เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและเจ้าของฟาร์มผึ้งกว่า 300 คนเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการ







"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น