อพวช.จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดการประกวด “เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์” ครั้งแรกไนไทย เปิดโอกาสนักเรียนมัธยมปลาย-นักศึกษา และบุคคลทั่วไปส่งผลงานชิงชัยเพื่อเฟ้นหานักเขียนวิทย์หน้าใหม่พร้อมชิงเงินรางวัล หมดเขตรับสมัคร 1 เม.ย. 59
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและบริษัทโพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) จัดแถลงข่าวการจัดโครงการ “ประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์” เพื่อเฟ้นหานักเขียนแนววิทย์หน้าใหม่ ณ เวทีกลาง มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 58
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาไทย คือ การอ่านของเด็กไทยยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเด็กต่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้เป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่ทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา เพราะเมื่อเด็กไม่รักการอ่าน หรืออ่านหนังสือไม่ได้ ก็จะทำให้เขียนไม่ได้ และทำให้การเรียนรู้ไม่สัมฤทธิ์ผล ด้วยเหตุดังกล่าว ทาง อพวช.จึงได้ริเริ่มโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ขึ้น โดยได้ชักชวนให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทโพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) มาเป็นพันธมิตรร่วมในการจัดงานครั้งนี้ โดยจะแบ่งฝ่ายกันทำหน้าที่ไปตามความรับผิดชอบและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน โดย อพวช.จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางคอยประสานงานและสนับสนุนให้โครงการสำเร็จลุล่วง
ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โดยปกติสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้พยายามส่งเสริมให้เกิดการเขียนและการอ่านด้านวิทยาศาสตร์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน, ระดับโรงเรียน, ระดับมหาวิทยาลัย และระดับประชาชน แต่ที่ผ่านมายังมีผู้สนใจและอยากเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์น้อยเพราะดูเป็นเรื่องวิชาการและไม่น่าสนใจ แต่ในทางกลับกันผู้อ่านส่วนใหญ่มักสนใจการอ่านการ์ตูนและนวนิยายค่อนข้างมาก ทำให้ผู้จัดงานเห็นพ้องกันว่า หากจะเริ่มต้นสำหรับการพัฒนางานเขียนวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่สนใจอีกครั้งควรเริ่มจากการ เขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความยาวไม่มากเกินไป อีกทั้งยังมีความสนุกสนานบนสาระความจริงที่เข้าถึงผู้อ่านได้ไม่ต่างกับการอ่านนวนิยายเรื่องดีๆ
ด้าน นพ.ทยา กิติยากร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตัวอย่างของเรื่องสั้นทางวิทยาศาสตร์ที่ดีมีให้เห็นมากในภาพยนตร์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างสรรค์เรื่องราวจากจินตนาการในอนาคตทำให้เห็นตัวละครต่างๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาแปลกๆไปจากชีวิตจริง เช่น หุ่นยนต์, มนุษย์ต่างดาว, ไวรัสหรือเชื้อโรคกลายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่มีในชีวิต โดยเรื่องสั้นที่ดีจะต้องใช้การเล่าเรื่องแบบง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีการสะท้อนสังคม สะท้อนความเป็นมนุษย์ ซึ่งความเข้าถึงได้จากคนทุกระดับจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวและความเป็นสังคมแห่งวิทยาศาสตร์กระจายเข้าถึงได้มากขึ้นในหมู่คนไทย
“สำหรับ เกณฑ์การพิจารณา หลักๆ จะดูจากแก่นของเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นวิทยาศาสตร์, ชั้นเชิงการนำเสนอในเชิงคุณค่าวรรณศิลป์, เค้าโครงเรื่อง, ตัวละคร, บทพูด, ฉาก, ความเป็นไปได้ของจินตนาการต่อความสมจริง รวมไปถึงความสนุก และต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อใดๆ มาก่อน และที่สำคัญเนื้อหาไม่ขัดต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชาติ โดยเราเปิดรับสมัครถึง 3 ระดับด้วยกันตั้งแต่นักเรียนชั้น ม.ปลาย, นักศึกษา และบุคคลทั่วไป อยากให้ลองมาสมัครกันเยอะๆ เยาวชนไทยจะได้มีหนังสือวิทยาศาสตร์ดีๆ เพิ่มขึ้นครับ” นพ.ทยา กล่าวบนเวที
หมายเหตุ
วิธีการรับสมัคร
การส่งใบสมัครและผลงาน
1.1.ดาวน์โหลดใบสมัครทางเว็บไซต์ www.nsm.or.th
1.2 ช่องทางการส่งใบสมัครและผลงาน สามารถส่งได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
ช่องที่ 1 ทางอีเมลล์ : scicomnsm@gmail.com
ช่องที่ 2 ทางไปรษณีย์ โดยจ่าหน้าซองถึง
กองการสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช. เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 วงเล็บมุมซองว่า “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์”
ช่องที่ 3 ส่งด้วยตัวเอง ที่กองการสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช.เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
รูปแบบผลงาน
สำหรับผลงานเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่จะส่งเข้าประกวด ต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 7 หน้าและไม่เกิน 12 หน้ากระดาษ A4แบบไม่มีภาพประกอบ โยแบ่งประเภทผู้ส่งผลงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า, ประเภทอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า และประเภทประชาชนทั่วไป หมดเขตรับสมัครภายในวันที่ 1 เม.ย.59 และประกาศผลการตัดสินวันที่ 1 ก.ค.59 ทางเว็บไซต์ www.nsm.or.th หรือ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th หรือโทร 02-577-9999
รางวัล
ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย
ชนะเลิศเงินรางวัล 15,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 5,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลชมเชย เงินรางวัล 2,000 บาท
ประเภทมหาวิทยาลัย
ชนะเลิศเงินรางวัล 15,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 5,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลชมเชย เงินรางวัล 2,000 บาท
ประเภทประชาชนทั่วไป
ชนะเลิศเงินรางวัล 30,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 25,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 20,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลชมเชย เงินรางวัล 5,000 บาท