นักวิจัย มอ.“ผลิตกุ้งกุลาดำยักษ์” สำเร็จ หลังค้นพบเทคนิคจัดชุดโครโมโซมด้วยความเย็น ยกระดับกุ้งกุลาเลี้ยงง่าย-ทนโรค-โตวัย-จับขายได้ภายใน 3 เดือน พร้อมจับมือเอกชนเปิดบริษัทผลิตลูกกุ้งขายด้วยนวัตกรรมตรวจจับการวางไข่-เก็บไข่อัตโนมัติที่คิดค้นเอง ลดปัญหาเปลืองแรงงาน
ผศ.ดร.ภัททิรา พงษ์ทิพย์พาที อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การพัฒนาเทคนิคเหนี่ยวนำโครโมโซม 3 ชุด เป็นการพัฒนายกระดับสายพันธุ์กุ้งกุลาดำให้มีความต้านทานโรคและใช้เวลาเลี้ยงน้อยลงด้วยหลักการทางเทคโนโลยีชีวภาพต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้าของเธอ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาดในกุ้ง อันเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผลิตลูกกุ้งพันธุ์ในชื่อของ บริษัท โนเบิลฟู้ด จำกัด
นายธีศิษฎ์ จิตรพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโนเบิลฟู้ด จำกัด เผยว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดโครโมโซม 3 ชุดจากปกติที่มี 2 ชุด (triploidy induction 3n) เป็นวิธีปกติวิธีหนึ่งที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ โดยการจัดชุดโครโมโซมที่เป็นของสัตว์น้ำตัวนั้นเอง (Chromosome manipulation) ซึ่งมีข้อดีหลายประการ คือ กุ้งกุลาดำ 3n ทั้งเพศผู้และเพศเมียที่ได้จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่ากุ้งปกติ 1.3-1.9เท่า ทำให้จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน 4-5 เดือนถึงจะเก็บขายได้ ลดลงเหลือเพียง 2-3 เดือนในขนาดและน้ำหนักตัวที่ไม่แตกต่างกัน เพราะการเพิ่มจำนวนโครโมโซมจะทำให้สัตว์มีเซลล์เพิ่มขึ้น ตัวจึงใหญ่ขึ้นในขณะที่รหัสพันธุกรรมยังคงเดิม ไม่ใช่การพัฒนายกระดับด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม (Non-GMOs) แต่กุ้งรุ่นลูกที่ได้จะเป็นหมันเนื่องจากไม่สามารถแบ่งเซลล์สืบพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นการป้องกันการขยายพันธุ์ที่ไม่มีสิทธิบัตร
“ถ้าเทียบกับกุ้งปกติที่เลี้ยงในเวลาเท่าๆ กัน กุ้งที่พัฒนาสายพันธุ์ด้วยการเพิ่มชุดโครโมโซมตัวจะใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะกุ้ง 3 n ที่ได้จะเป็นหมันทั้งหมด และส่วนมากจะเป็นเพศเมีย ในอัตราส่วน 2:1 ที่สำคัญ คือ มันกินอาหารได้ดีกว่า ทำให้ปัญหาของเสียในบ่อลดลง และยังมีความทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องใช้ยา ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ไม่ต้องให้อาหารมาก ไม่ต้องเปลืองค่าแรงงานมากเหมือนที่เคย ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตที่น่าจะตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และที่สำคัญที่สุด คือเนื้อกุ้งที่ได้มีรสชาติอร่อย เด้ง กรอบกว่ากุ้งปกติ" นายธีศิษฎ์ กล่าว
สำหรับการจัดชุดโครโมโซมให้เพิ่มจำนวนจาก 2 ชุด (Diploid)ในธรรมชาติ เป็น 3 ชุด (Triploid) ผศ.ดร.ภัททิรา อธิบายว่า เป็นการใช้ความเย็นในการจัดเก็บโครโมโซมอีกชุดหนึ่งไว้ในช่วงที่จะแบ่งเซลล์สืบพันธุ์แบบไมโอซิส 2 (Meiosis 2)ในระยะเมตาเฟส (Metaphase) ก่อนที่โพลาร์บอดี (Polar body) จะถูกเก็บในระยะแอนาเฟส (Anaphase) ที่โครโมโซมก็จะถูกแบ่งเป็น 2n รวมถึงไข่ที่ปกติจะมีโครโมโซมเพียงแค่ชุดเดียว (n) ด้วย
ซึ่งพอไข่ 2n รวมกับสเปิร์มอีก 1n ก็กลายเป็นตัวอ่อน 3n ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ ผศ.ดร.ภัททิรา เผยว่าค้นพบขึ้นเองเป็นครั้งแรก เพราะปกติการจัดชุดโครโมโซมจะมีวิธีที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามสัตว์แต่ละชนิด โดยวิธีนี้จะนิยมใช้กับสัตว์ที่เป็นอาหารทะเล อาทิ หอย, ปลา และกุ้งทั่วไป ซึ่งเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่า สัตว์แต่ละชนิดเหมาะกับการจัดโครโมโซมด้วยวิธีใด? ในอุณหภูมิแบบใด? สารเคมีแบบใด? ซึ่งจากการศึกษาในกุ้งกุลาดำของเธอมาเป็นเวลานาน ได้ข้อสรุปว่าการใช้ความเย็นเป็นเทคนิคการเหนี่ยวนำการเพิ่มชุดโครโมโซมที่ดีที่สุด นำมาสู่การสร้างเครื่องเครื่องผลิตกุ้งกุลาดำ 3n แบบอัตโนมัติ, เครื่องตรวจจับการวางไข่ของกุ้งกุลาดำ และเครื่องมือเก็บไข่กุ้งกุลาดำ ที่ในขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรและนำมาใช้กับการผลิตลูกกุ้ง 3n ของบริษัท โนเบิลฟู้ด จำกัด เป็นที่เรียบร้อย
นอกจากการวิจัยรูปแบบการจัดชุดโครโมโซมเพื่อพัฒนายกระดับสายพันธุ์กุ้งกุลาดำ และการสร้างเครื่องมืออัตโนมัติแล้ว ในอนาคต ผศ.ดร.ภัททิรา ยังเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ได้วางแผนทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกุ้งกุลาดำ 3 n อีกหลายโครงการ อาทิ การศึกษาองค์ประกอบทางชีวเคมี โดยเฉพาะกรดอะมิโน-ไขมันในกุ้ง, การศึกษาเกี่ยวกับการต้านทานต่อโรคเรืองแสง ตัวแดง ตัวขาว, การศึกษาการทนต่อความเครียดในสภาวะต่างๆ รวมถึงการศึกษารคุณภาพเนื้อหลังเก็บเกี่ยว เพื่อต่อยอดความรู้และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่จะซื้อลูกกุ้งไปเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม