xs
xsm
sm
md
lg

"ถนนสายวิทย์" เปิดประลองปัญญาตักสมบัติด้วย "สะเต็ม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุปกรณ์สารพัดชนิดถูกนำมาตั้งเรียงรายให้เยาวชนเลือกใช้สำหรับการประดิษฐ์ที่ตักรางวัล
ในงานถนนสายวิทย์ ประจำปี 2559 มีบูธกิจกรรมที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ไฮโซ หรือมีเทคนิคเรียกเด็กอลังการมากมาย หากแต่มีอุปกรณ์พื้นๆ มาวางเรียงรายให้เด็กๆ ได้เลือก เพื่อเครื่องมือเก็บสมบัติจากอ่างด้านล่างที่เต็มไปด้วยของรางวัลมากมายที่ครั้งนี้คงไม่ได้มาง่ายๆ เพราะต้องแลกกับการใช้ “ปัญญา”

นายทศวรรษ คุณาวัฒน์ นักวิชาการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า กิจกรรมเกาะมหาสมบัติ เป็นกิจกรรมในโซนนักประดิษฐ์ของ อพวช. ที่มีจุดมุ่งหมายให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ผลงานผ่านการเชื่อมโยงกับสะเต็ม โดยการให้เยาวชนเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้จำนวน 5 อย่าง มาประดิษฐ์ให้เป็นวัสดุที่สามารถตักของรางวัลได้และมีความแข็งแรงด้วยจินตนาการส่วนตัว ไม่มีการจำกัดรูปแบบใดๆ

สำหรับอุปกรณ์ที่จัดไว้ให้ ทศวรรษ กล่าวว่า มีอยู่ด้วยกัน 9 อย่าง ได้แก่ หลอดดูดน้ำ ก้านลูกโป่ง กระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ ไม้ไอศกรีม ตะเกียบ ดินน้ำมัน แก้วน้ำพลาสติกและแก้วน้ำกระดาษ พร้อมอุปกรณ์ยึดติดอย่างเทปกาว เชือก หนังยาง กรรไกร ซึ่งในโอกาสนี้เขาได้ทดลองประดิษฐ์เครื่องมือเก็บสมบัติให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ดูด้วย 1 ชิ้น ที่ประดิษฐ์จากกระดาษลัง ไม้ตะเกียบ และก้านลูกโป่งให้มีลักษณะคล้ายกับที่ตักขยะ

ทศวรรษกล่าวว่าเหตุที่ประดิษฐ์อุปกรณ์ตักสมบัติในรูปแบบนี้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่คาดว่าจะตักสมบัติได้ดีที่สุดโดยไม่มีการหลุดไหล เพราะได้ทำด้ามจับจากก้านลูกโป่งให้มีความมั่นคง ยึดเกาะกับส่วนตักรางวัลที่ทำจากกระดาษลังพับในมุม 60 องศา ซึ่งเป็นมุมจากการคาดคะเนด้วยประสบการณ์ว่าเมื่อนำไปตักสิ่งของแล้วจะไม่ผิดพลาด ซึ่งหลังจากเขาประดิษฐ์เสร็จและทดลองทำก็สามารถตักได้จริง

ทศวรรษเผยว่าเขาใช้สะเต็ม (STEM) หรือการบูรณาการกันระหว่างวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ในการเชื่อมโยงงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ควบคู่กับการใช้ประสบการณ์ กล่าวคือ หากต้องการตัดของในกระบะให้ได้โดยไม่หลุดไหล สิ่งแรกที่ต้องทำ คือสร้างถาดที่ตักให้มีความงอซึ่งเขาได้ไอเดียจากภาพสิ่งของที่มักดูทางอินเทอร์เน็ตซึ่งถือเป็นการใช้เทคโนโลยี

จากนั้นจึงใช้คณิตศาสตร์ในการกะมุมว่ามุมที่พอดีควรอยู่ระหว่าง 45-90 องศา แล้วก็ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในการกะแรงว่าควรจะใช้ก้านลูกโป่งกี่ก้านในการประกอบ จากนั้นจึงลงมือทำด้วยหลักการประดิษฐ์ง่ายๆ ที่เปรียบได้กับการสร้างงานทางวิศวกรรม

“ความจริงการประดิษฐ์แบบนี้มันไม่มีผิดมีถูก เราเปิดโอกาสให้น้องๆ ใช้จินตนาการ และประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ เด็กส่วนมากยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแค่เขามายืนเล่นแล้วลองคิด เขาก็ได้เรียนรู้แบบสะเต็มไปในตัวแล้ว เพราะทันทีที่เขาได้รับโจทย์มาว่าจะต้องประดิษฐ์ที่ตักของ ในสมองเขาก็จะคิดว่าจะทำอย่างไร ถ้ายังคิดแบบใหม่ไม่ได้ สมองก็จะคิดถึงสิ่งประดิษฐ์และองค์ความรู้ที่มีอยู่จนกลั่นออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ในที่สุด แต่ถ้าทำมาแล้วเกิดชำรุด หรือตักของไม่ได้เราก็ให้โอกาสกลับมาซ่อมใหม่ด้วย เพราะสะเต็มมีแต่คำว่าเรียนรู้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด” นายทศวรรษกล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรม “ประดิษฐ์เครื่องมือเก็บสมบัติ” เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งจากกิจกรรมนับร้อย ที่จัดขึ้นในงานถนนสายวิทย์รับวันเด็ก ซึ่งในปีนี้เปิดให้เยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 7-9 ม.ค.59 เวลา 9.00-17.00 น. บริเวณลานหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยาวเรื่อยไปตลอดถนนโยธี พระรามหก กรุงเทพฯ

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-577-9999 ต่อ 2109
ก้านลูกโป่ง
หลอดดูดน้ำ
เปกาว
แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก
ดินน้ำมัน
เชือก
หนังยาง
ทศวรรษ ทดลองตะกของรางวัลในกระบะ
เยาวชนร่วมกันประดิษฐ์ที่ตักรางวัลของตัวเองอย่างสนุกสนาน
เยาวชนลองใช้ที่ตักรางวัลที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น ควานของขวัญในกระบะ
เกาะมหาสมบัติ มีของรางวัลมากมายรนอให้เด็กๆ มาประดิษฐ์ที่ตักเพื่อนำรางวัลกลับบ้าน
นายทศวรรษ คุณาวัฒน์ นักวิชาการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)









กำลังโหลดความคิดเห็น