xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู "พิพิธภัณฑ์น้ำ" แห่งใหม่ที่เชียงราย ใช้ "ฝาย" รักษาป่าเสื่อมโทรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารมูลนิธิอุทกพัฒน์ เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำและการทำเกษตรผสมผสานของชาวบ้าน
ใช้ศรัทธาสู้นายทุน เปลี่ยนน้ำขุ่นเป็นน้ำใส "เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว" แก้ปัญหาน้ำด้วยพระราชดำริฯ ในหลวง "ฟื้นป่า-ปันน้ำ-สร้างเด็ก-เกษตรผสมผสาน" ช่วยชาวบ้าน จ.เชียงราย 41 ชุมชน 4 ตำบล มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียงตลอดปี ขึ้นแท่นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯแห่งที่ 10 ของประเทศ

"บ้านเราแทบไม่มีปัญหาน้ำแล้งเหมือนที่อื่น แต่ละแวกชุมชนเราไม่เคยมีการบริหารจัดการน้ำ แถมนายทุนยังเข้ามาทำเหมืองดีบุกจนน้ำธรรมชาติเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น จะกินจะใช้ก็ไม่ได้ หนำซ้ำยังรุกพื้นที่ป่าตัดไม้ใหญ่จนเหี้ยน พวกเราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเอาธรรมชาติและน้ำของพวกเราคืนมา" ถ้อยคำหนึ่งของประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ที่กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เมื่อพิธีเปิด "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย" สิ้นสุดลง
นายอินแหลง นำ ดร.สุเมธ พร้อมคณะชมแนวกันไฟป่าที่ชุมชนช่วยกันทำขึ้น
นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว เล่าว่าเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว จ.เชียงราย ประสบปัญหานายทุนเข้าสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก มีการตัดต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมากเพื่อเปิดทางให้เครื่องจักรกลขุดเจาะขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ ทำให้สายน้ำแม่โถซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลาวที่ใสสะอาด หล่อเลี้ยงชาวบ้าน 18 ครัวเรือน กลายสภาพเป็นสีแดงขุ่นจนไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้อีกต่อไป
มีการบริหารน้ำชุมชนด้วยการใช้ฝายเก็บกักน้ำจากต้นน้ำ
ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาวจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนรักษ์ป่า” ในปี 2548 เพื่อช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ลาวร่วมกันโดยเริ่มต้นจากการประชุมหารือเพื่อรับฟังปัญหาในชุมชน, ระดมแนวคิดการแก้ปัญหา และลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่ป่าไม้ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพราะก่อนหน้าที่ไม่เคยมีชุมชนใด หรือหน่วยงานใดทำข้อมูลหรือแผนที่ป่าเสื่อมโทรมมาก่อน ซึ่งเมื่อรู้ว่าจุดใดมีความเสื่อมโทรมมากก็จะเข้าฟื้นฟูก่อนพื้นที่อื่น ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำกักความชุ่มชื้นในดิน, จัดทำแนวกันไฟ และปลูกต้นไม้เสริมป่าเพื่อเรียกความสมบูรณ์คืนมา
ชาวบ้านจะช่วยกันถางหญ้า เพื่อให้พื้นป่ามีช่องว่างอย่างน้อย 3-5 เมตร เพื่อเป็นแนวกันไฟป่าลุกลาม
สำหรับการสร้างฝายเก็บความชื้น นายอินแหลง เผยว่าจะสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติเช่น ไม้หรือหินที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อให้น้ำจากต้นน้ำไหลผ่านได้ช้าลงซึ่งจะทำให้ดินมีเวลาในการดูดซับน้ำมากขึ้น ซึ่งจะทำควบคู่กับแนวกันไฟป่าเปียก ที่เป็นการจัดสรรให้พื้นป่ามีช่องว่าง ไม่ให้มีใบไม้แห้งมากเกินไปเพราะจะเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้เกิดไฟป่า โดยทั้งฝายและแนวกันไฟเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจลงแขกของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จขั้นต้นทำให้ชุมชนในละแวกใกล้เคียงเริ่มเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า จนอีก 10 หมู่บ้านมาเข้าร่วมเครือข่ายในปี 2550 จนกลุ่มได้พัฒนาเป็น “เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว"
อ่างสำรองน้ำของชุมชนเพื่อการอุปโภค บริโภค
เมื่อป่าต้นน้ำเริ่มฟื้น น้ำมีมากขึ้น ขั้นต่อไปที่ต้องทำคือ การวางแผนดูแลรักษาและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งนายอินแหลงเผยว่า เครือข่ายได้ดำเนินการวางระบบสำรองน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจากฝายหินต้นน้ำไปยังถังสำรองประจำชุมชน ที่จะมีการติดตั้งเครื่องกรองน้ำส่วนกลางไว้อย่างเสร็จสรรพ พร้อมวางกฎระเบียบการใช้น้ำของแต่ละครัวเรือนในหมู่บ้าน และวางโทษไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าของน้ำและป่า เพราะนอกจากน้ำเหล่านี้จะใช้สำหรับการดื่มกินแล้ว น้ำบางส่วนยังถูกลำเลียงเข้าสู่แปลงเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินมาเลี้ยงปากท้องทุกชีวิตในครอบครัวด้วย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
เครื่องกรองน้ำและถังสำรองขนาดใหญ่ถูกติดตั้งไว้ที่วัดกลางชุมชน เพราะให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยง่าย
ไผ่ตงขนาดใหญ่ถูกปลูกไว้สำหรับผลิตไม้ฟืนและเก็บหล่อไม้
"แต่การทำเกษตรที่นี่ก็ไม่เหมือนที่อื่นนะ เราปลูกหลายอย่าง เราไม่ปลูกอย่างเดียวเพราะเราน้อมนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วยการปลูกพืชแบบสวนผสมด้วยแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 ประการคือ เราจะปลูกทั้งไม้กิน, ไม้เศรษฐกิจ และไม้ใช้งาน คือปลูกหมดทั้งกาแฟ, ไม้ฟืน,สมุนไพรพื้นบ้าน, ไผ่, ผักผลไม้ต่างๆ เพราะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่ต้อปลูกข้าวโพดจนเขาเป็นเขาหัวโล้นเหมือนที่เคย ซึ่งการปลูกแบบนี้คือการฟื้นฟูป่าทางอ้อมซึ่งเราถือว่าเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง"
กาแฟพันธุ์อะราบิก้าในสวนของชาวบ้าน
นอกจากการระดมสมองชาวบ้าน การน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้แก้ปัญหาของชุมชนด้วยตัวเอง นายอินแหลงเผยว่า "กลุ่มเยาวชนละอ่อนฮักน้ำลาว" ก็เป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติประสบความสำเร็จได้ด้วยดียิ่งขึ้น เพราะเยาวชนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสำรวจ การเก็บข้อมูลจัดทำแผนที่ระวังภัยพิบัติของเครือข่าย
ต้นเมี่ยง เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้งามให้กับชาวบ้าน
"คนเถ้าคนแก่อย่างเราถ้าเปรียบเป็นปฏิทินก็ถึงวันที่ยี่สิบกว่าๆจะสิ้นเดือนแล้ว ถ้าเราไม่หาคนมาสานต่อ สิ่งที่เราทำวันนี้ก็จะสูญเปล่า แต่ตอนนี้เรามั่นใจแล้วว่าโครงการของเราจะเดินต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีพวกละอ่อนมาช่วยงาน และคงดีขึ้นกว่าสมัยนี้มากเพราะเด็กๆ เขาเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ยิ่งพอหลังจากชุมชนเราได้รางวัลที่ 3 จากการประกวดการจัดการทรัพยากรชุมชนตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี 2554 การจัดการน้ำของเราก็ดีขึ้นใหญ่ เพราะสสนก.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดการน้ำให้กับละอ่อนตัวแทนนำกลับมาใช้พัฒนากับชุมชน"
กลุ่มละอ่อนฮักน้ำลาว ช่วยกันเก็บขยะที่พบเห็นบริเวณแม่น้ำลาว และตั้งเวรมาดูสถานการณ์น้ำๆ ทุกๆวันจันทร์
ด้านตัวแทนเยาวชนละอ่อนฮักน้ำลาวรุ่นแรกเริ่ม อย่าง "น้องอ้อม" หรือ น.ส.นันทิชา โตนะโภ หรือ น้องอ้อม กล่าวว่า หลังจากชุมชนเข้าประกวด ในปีเดียวกัน สสนก.และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ก็ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ด้วยการอบรมให้ข้อมูลความรู้และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เชิงลึกแก่ชาวบ้านสำหรับการจัดทำแผนที่น้ำและแผนที่เครือข่าย ทั้งในส่วนของแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), เครื่องระบุพิกัด (GPS) และยังพาตัวแทนเยาวชนละอ่อนฮักน้ำลาวอย่างเธอ เข้าร่วมการอบรมเทคนิคปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เชิงลึกที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาใช้จริงกับการอ่านค่าความชื้นและความดันอากาศทางโทรมาตรที่ สสนก.นำมาติดตั้งให้ในพื้นที่ รวมถึงการตรวจวัดคุณภาพดินและน้ำเบื้องต้นเพื่อจัดทำรายงานความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในชุมชน
น้องอ้อมชี้ให้ดูแนวไม้วัดระดับวิกฤตน้ำ
"ละอ่อนมีตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆถึงเด็กโตค่ะ มีประมาณร้อยกว่าคน ตัวหนูเป็นละอ่อนฮักน้ำลาวมาตั้งแต่ ม.3 จนตอนนี้อยู่ปี 2 เพราะหนูอยากทำงานด้านธรรมชาติค่ะ ที่บ้านหนูใน อ.แม่สวยมีผู้ทรงอิทธิพลตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเด็กอย่างเราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากแสดงพลังเล็กๆ ในการเป็นอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเราจะมีหน้าที่คอยช่วยผู้ใหญ่ แล้วก็ดูแลงานด้านการประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้เช่นการใช้โทรมาตร, ใช้จีพีเอส แล้วก็คอยเฝ้าระวังภัยน้ำหลากด้วยการผลัดเปลี่ยนเวรมาดูระดับน้ำที่ไม้วัดระดับทุกๆ วันจันทร์ ซึ่งการมาเป็นละอ่อนมันดีมากสำหรับหนูเพราะนอกจากเราจะได้ช่วยเหลือชุมชนแล้ว เรายังได้ความรู้อื่นๆ ที่นำไปใช้กับการเรียนได้ด้วย" น้องอ้อม เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขณะพาเดินลุยน้ำแม่น้ำลาวเพื่อไปดูหลักวัดระดับน้ำ
กลุ่มละอ่อนฮักน้ำลาว ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ
นายอินแหลงยังกล่าวต่อไปอีกว่าจนกระทั่งปี 2555 ชุมชนสามารถขอคืนพื้นที่ทำกิน 20% ของพื้นที่ติดกับป่าไม้ และได้ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมากว่า 2,000 ไร่ และปัจจุบันเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ได้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาวอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาวทั้งหมด 258,605ไร่ ใน 41 ชุมชน 4 ตำบล ในอ.เวียงป่าเป้า รวมเส้นทางน้ำ 291 ลำห้วย เกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนร่วมกันเป็นเครือข่าย มีการขยายฝายภูมิปัญญาพื้นที่ต้นน้ำในเครือข่ายถึง 2,528 ฝาย และมีการเชื่อมต่อแนวกันไฟป่าต้นน้ำเครือข่าย เป็นระยะทางรวม 103 กิโลเมตร

นอกจากนี้การปลูกต้นไม้เสริมป่า การจัดทำระบบสำรองน้ำ กระจายน้ำ และเครื่องกรองน้ำชุมชนยังทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายกว่า 881 ครัวเรือน มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดตลอดปี ครอบคลุมไปถึงการทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างกาแฟอะราบิก้าชั้นดีที่ปลูกคู่กับพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจที่มีผลผลิตให้เก็บขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวจนลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่ต้องออกไปหางานทำไกลบ้านเหมือนที่ผ่านมา

ด้วยผลสำเร็จอันเป็นรูปธรรม มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จึงได้ตั้งให้เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย" เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ที่สนใจและชุมชนในละแวกใกล้เคียงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริจากพื้นที่จริง ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง
พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง
ดอกนางลาว นิยมใช้จิ้มกับน้ำพริก เป็นผักราคาสูงที่ชาวบ้านปลูกไว้ขายให้กับพ่อค้า
กาแฟพันธุ์ดีที่ชาวบ้านปลูกไว้ในพื้นที่เกษตรผสมผสาน
เมล็ดกาแฟหลังจากตากแห้งจะถูกส่งขายให้กับพ่อค้าที่มาติดต่อรับซื้อถึงที่
ชาวบ้านยังปลูกพืชเมืองหนาวลงกระถางไว้สำหรับส่งขาย สร้างรายได้งามในแต่ละเดือน
น.ส.นันทิชา โตนะโภ หรือ น้องอ้อม ตัวแทนเยาวชนละอ่อนฮักน้ำลาว
นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว









กำลังโหลดความคิดเห็น