xs
xsm
sm
md
lg

ชิ้นกระดูก 1.85 ล้านปีบอกวิวัฒนาการ “มือยุคใหม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกระดูกนิ้วนางโบราณอายุ 1.85 ล้านปีที่ค้นพบในแทนซาเนีย (ซ้ายไปขวา) ถ่ายจากด้านหลัง, ด้านข้าง, ด้านหน้า และด้านบน เทียบกับมาตรวัด 1 เซ็นติเมตร (AFP PHOTO / NATURE COMMUNICATIONS / RODRIGO DOMINGUEZ)
กระดูกนิ้วนางชิ้นเล็กๆ อายุ 1.85 ล้านปีของบรรพบุรุษมนุษย์ที่ถูกขุดพบในแอฟริกาตะวันออก เผยถึง “มือยุคใหม่” ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ และพาย้อนเวลากลับไปยังก้าวสำคัญของวิวัฒนาการในบรรพบุรุษมนุษย์ ที่วิวัฒนาการจากนักปีนป่ายหาอาหารตามต้นไม้มาเป็นนักล่าด้วยเครื่องมือที่ช่ำชอง

ชิ้นกระดูกนิ้วนางขนาด 3.6 เซ็นติเมตร อายุ 1.85 ล้านปีที่พบในแทนซาเนียทางแอฟริกาตะวันออก นอกจากเผยถึงวิวัฒนาการสู่มือยุคใหม่แล้ว ยังเผยถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าสิ่งมีชีวิตอื่นที่เรารู้จัก ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่ต้นกำเนิดมนุษย์อยู่กันชุกชุม และปัจจุบันกลายเป็นประเทศแทนซาเนีย อ้างตามเอเอฟพีซึ่งรายงานการค้นพบของนักวิจัยจากสถาบันวิวัฒนาการในแอฟริกา (Instituto de Evolución en África, IDEA) ที่กรุงมาดริด สเปน

ทั้งนี้ มือถือเป็นลักษณะทางกายวิภาคที่สำคัญในการจำแนกมนุษย์ และแม้จะเป็นกระดูกชิ้นเล็กๆ แต่สามารถบอกถึงลักษณะร่างกายและพฤติกรรมได้มาก โดย มานูเอล โดมินเกซ-โรดริโก (Manuel Dominguez-Rodrigo) นักวิจัยจาก IDEA ผู้เขียนรายงานการค้นพบลงวารสารวิชาการ อธิบายว่ารูปร่างมือของบรรพบุรุษมนุษย์นี้สะท้อนถึงขั้นวิวัฒนาการของพวกเขา และยังสะท้อนถึงแรงขับของวิวัฒนาการดังกล่าว

“มือของเราวิวัฒนาการเพื่อให้เราจับฉวยได้หลากหลาย และมีพลังจับฉวยมากพอที่จะทำให้เราจัดการสิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย และความสามารถการจัดการที่เชื่อมต่อกับสมองเรานี้ได้พัฒนาปัญญาของเรา หลักๆ คือผ่านการประดิษฐ์และการใช้งานเครื่องมือ” โดมินเกซ-โรดริโกระบุ

สำหรับลักษณะที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “มือ(คล้ายมนุษย์)ยุคใหม่” นั้นมีลักษณะสำคัญหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือมีนิ้วยาว ช่วยให้เราหยิบจับได้แม่นยำขึ้น และแผ่มือได้กว้าง อีกอย่างคือการเหยียดตรงได้ของกระดูกนิ้วมือซึ่งมี 3 ชิ้นใน 1 นิ้ว ส่วนความโค้งของกระดูกนิ้วถูกปรับใช้เพื่อปีนป่ายต้นไม้และเพื่อเหวี่ยงตัวเองจากกิ่งไม้

โดมินเกซ-โรดริโกระบุว่า มือยุคใหม่ในอดีตนั้นจะบอกเราว่าเมื่อไรที่มนุษย์เป็นสัตว์บกเต็มที่ และเมื่อไรที่บรรพบุรุษของเราใช้เครื่องมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและใช้อย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นใน 2 ระยะ ระยะแรกหลังจากสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์หรือโฮมินิน (hominin) ยุคแรก ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตในสกุลโฮโม เริ่มเดิน 2 ขา เมื่อประมาณ 6 ล้านปีก่อน แขนก็เริ่มวิวัฒนาการให้มีนิ้วยาว แต่นิ้วยังคงโค้งอยู่ ซึ่งบ่งบอกว่าต้นไม้ยังคงเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญ และการเคลื่อนไหว 2 ลักษณะ ทั้งบนพื้นและบนต้นไม้ก็ยังคงมีต่อมาอีก 4 ล้านปี

ระยะสองเมื่อบรรพบุรุษของเราละทิ้งการอาศัยอยู่บนต้นไม้ นิ้วของพวกเขาก็เริ่มเหยียดตรง เปิดหนทางสู่การสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์เครื่องมือ ซึ่งโดมินเกซ-โรดริโกอธิบายว่า เมื่อมือเป็นอิสระจากการเคลื่อนไหวบนต้นไม้ ก็สร้างคุณลักษณะเฉพาะในการหยิบจับที่เหมาะสมได้ ซึ่งการค้นพบของเขาและคณะได้เติมเต็มช่องว่างดังกล่าว โดยเครื่องมือหินเก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการยืนยันนั้นมีอายุประมาณ 2.6 ล้านปีก่อน แต่การค้นพบครั้งนี้ซึ่งเผยแพร่ในเนเจอร์คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) จะเติมเชื้อการถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นว่า บรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของเราระหว่าง โฮโมฮาบิลิส (Homo habilis) หรือ โฮโมอิเร็คตัส (Homo erectus) นั้นใครเป็นกลุ่มแรกที่ประดิษฐ์เครื่องมือและอาวุธหิน

“การค้นพบของไม่เพียงแค่แสดงว่าสิ่งมีชีวิตชื่อเล่นว่า “OH 86” ที่มีมือยุคใหม่นั้นเคยอยู่บนโลกเมื่อ 1.85 ล้านปีก่อนเท่านั้น แต่ยังเผยด้วยว่า OH 86 มีขนาดใหญ่กว่าโฮมินินที่มีมาก่อนและที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน” โดมินเกซ-โรดริโกระบุ

หลักฐานทางโบราณคดีจากโอลดูวายจอร์จ แทนซาเนีย ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบกระดูกนิ้วมือนั้นแสดงให้เห็นว่าขนาดนั้นมีความสำคัญ ฟอสซิลนั้นบ่งบอกว่าบรรพบุรุษในยุคแรกเริ่มนั้นลากซากสัตว์ใหญ่ๆ ซึ่งบางครั้งหนักหลายร้อยกิโลกรัม

“ผมสงสัยเสมอว่าโฮโมฮาบิลิสซึ่งสูงเกือบไม่ถึงเมตรจะล่าสัตว์ขนาดใหญ่อย่างนั้นได้อย่างไร” โดมินเกซ-โรดริโกกล่าว ซึ่งการค้นพบโฮมินินที่มีลักษณะมนุษย์ยุคใหม่และมีขนาดใหญ่กว่านั้น ช่วยอธิบายปริศนาดังกล่าว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ก็เห็นพ้องด้วย

ทว่า ฌ็อง-ฌาคส์ ฮับลิน (Jean-Jacques Hublin) ผู้อำนวยการแผนกวิวัฒนาการมนุษย์ สถาบันมักซ์พลังก์ด้านวิวัฒนาการมานุษยวิทยา ซึ่งไม่ได้ร่วมศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า การค้นพบนั้นสนับสนุนผู้มีความเห็นแย้งความคิดที่ว่า โฮโมฮาบิลิสนั้นเป็นนักประดิษฐ์เครื่องมือหินที่หลากหลายในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เขาและอีกหลายคนแย้งข้อสรุปกว้างๆ ที่อ้างจากหลักฐานชิ้นเล็กๆ โดยให้ความเห็นว่ากระดูกนิ้วนางชิ้นเดียวไม่สามรถแทนลักษณะกระดูกมือยุคใหม่ทั้งหมดได้

ส่วน ทราซี แอล.คิเวลล์ (Tracy L. Kivell) ผู้ศึกษาสาขาดังกล่าวระดับแถวหน้า จากวิทยาลัยวิวัฒนาการและการอนุรักษ์ ของมหาวิทยาลัยเคนท์ (University of Kent) ในอังกฤษ ยิ่งไม่เชื่อการศึกษาดังกล่าว เขาบอกว่ากระดูกชิ้นเดียวไม่ได้บอกอะไรเราถึงถึงลักษณะของมือที่เหลือ หากพบฟอสซิลโฮมินินดังกล่าวสมบูรณ์มากกว่านี้ สิ่งที่จะบอกเราได้คือการผสมผสานที่แปลกประหลาดระหว่างลักษณะคล้ายมนุษย์ที่ถ่ายทอดมาและลักษณะคล้ายมนุษย์ออสเตรโลพิเธคัส
ภาพเทียบระหว่างกระดูกนิ้วนางโบราณอายุ 1.85 ล้านปี กับนิ้วมือมนุษย์ยุคปัจจุบัน (AFP PHOTO / NATURE COMMUNICATIONS / JASON HEATON)
ภาพเผยระหว่างการขุดสำรวจในโอลดูวายจอร์จ แทนซาเนีย ซึ่งเป็นแหล่งสำรวจทางบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก (AFP PHOTO / NATURE COMMUNICATIONS / RODRIGO DOMINGUEZ)









กำลังโหลดความคิดเห็น