ฝึกเด็กพิการทางสมองเดิน ด้วยเครื่องกายภาพบำบัดพี่ช้าง นวัตกรรมเพื่อสังคมน่ารักๆ จากนักศึกษาวิศวะ ม.ธรรมศาสตร์ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ-ลดภาระนักกายภาพบำบัด-เลี่ยงวัสดุนำเข้า ดีกรีรางวัลชมเชยจากการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ i-CREATe ประเทศสิงคโปร์
หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า ในเด็กที่มีภาวะพิการทางสมองนั้น นอกจากจะเรียบรู้ได้ช้ากว่าเด็กทั่วไปแล้ว ยังส่งผลให้อวัยวะบางอย่างในร่างกายสูญเสียการควบคุม โดยเฉพาะกรณีขาอ่อนแรงที่มักพบควบคู่กันกับเด็กพิการทางสมองส่วนใหญ่ ทำให้หลายสถาบันรับเลี้ยงหรือโรงเรียนสำหรับผู้พิการ ต้องมีช่วงเวลากายภาพบำบัดควบคู่กับการเสริมสร้างการเรียนรู้
นายพงษ์สิทธิ์ มิสา นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เด็กพิการทางสมองส่วนใหญ่จะนอนหรือนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ตลอดเวลา เพราะไม่มีแรงขา ทำให้เดินแล้วล้ม การแก้ไขจึงต้องใช้การหัดเดินด้วยเครื่องช่วยเดิน หรือ วอร์กเกอร์ เหมือนผู้สูงอายุแต่มีขนาดเล็กกว่า โดยใช้นักกายภาพบำบัดช่วยต่อผู้ป่วย 1 รายไม่ต่ำกว่า 3 คน ซึ่งในสถานรับเลี้ยง, โรงเรียน หรือศูนย์กายภาพบำบัดขนาดเล็ก ย่อมมีนักกายภาพบำบัดไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รุ่นพี่ของเขาจึงได้พัฒนาเครื่องฝึกเดินสำหรับเด็กพิการทางสมองขึ้น โดยใช้ชื่อว่า CP Steper 1.0 ที่เหมาะสำหรับใช้ฝึกเดินให้กับเด็กที่มีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง จากความผิดปกติของสมอง อายุ 7-12 ปี โดยใช้มอเตอร์ที่ต่อเข้ากับเฟืองการหมุนของบันไดจักรยานซึ่งถูกต่อเข้ากับสนับหัวเข่า เป็นตัวชักนำการเดินตามหลักการเดิมที่นักกายภาพบำบัดต้องคอยจับขาเด็กให้ก้าวไปทีละก้าว โดยที่ไม่ต้องกลัวอุบัติเหตุหรือการหกล้มเหมือนวิธีการเดิม เพราะตัวของเด็กถูกพยุงไว้เบาะที่ติดตั้งอยู่ทางด้านหลัง
“ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยเกือบหมดแล้วตั้งแต่รุ่นแรก ติดอยู่อย่างเดียวคือเด็กกลัว เพราะ stepper รุ่นแรก เราบรรจุมอเตอร์ไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมสีเงินธรรมดา ซึ่งทำให้เด็กระแวง ร้องไห้งอแง ไม่ยอมเดิน เราจึงต้องเอาความน่ารักเข้ามาดึงดูดความสนใจด้วยการนำช้างพลาสติก หรือช้างโยกเยกที่เราคุ้นเคยกัน มาประกอบเข้าไปอีกที ซึ่งได้ผลดีเกินคาด เพราะเด็กๆ ชอบ ให้ความสนใจและนิ่งขึ้น ส่วนเหตุผลที่ใช้รูปช้างก็เพราะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จึงเกิดเป็นเป็น CP Stepper 2.0”
นอกจากความน่ารักที่กระตุ้นความสนใจให้เด็กอยากเดินมากขึ้น พงษ์สิทธิ์ยังระบุด้วยว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยผ่อนแรกนักกายภาพบำบัดได้มาก เพราะนอกจากอุปกรณ์จะออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและปลอดภัย ใช้นักกายภาพบำบัดดูแลแค่เพียง 1 คนแล้ว ผู้ประดิษฐ์ยังได้ออกแบบให้ผู้ดูแล 1 คน สามารถควบคุมและสั่งงานได้พร้อมๆ กันผ่านระบบบลูทูธถึง 7 เครื่อง ผ่านการเชื่อมต่อทางสมาร์ทโฟน เพราะเส้นทาง ช่วงมุมองศาการก้าว และความเร็วก้าวที่สั่งมอเตอร์ ผู้ควบคุมหรือนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้สั่งการทั้งหมด โดยข้อมูลทางการแพทย์และกายภาพบำบัดได้มาจากนักศึกษาคณะกายภาพบำบัดจากสถาบันเดียวกัน ทีเชื้อเชิญเข้ามาร่วมทีม
พงษ์สิทธิ์ได้นำผลงานไปทดสอบและใช้จริงแล้วกับกลุ่มเด็กพิการทางสมองที่บ้านศรีสังวาลย์จำนวน 4 คน ซึ่งนักกายภาพบำบัดให้ความเห็นว่า Stepper 2.0 ทำให้เด็กมีความสุขกับการเดินมากขึ้นจริง สังเกตได้จากช่วงเวลาการเดิน และความถี่ของการก้าว ส่วนผลการรับรองทางการแพทย์ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเพราะอยู่ในช่วงทดสอบและรวมรวมผล แต่สำหรับแนวคิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ พงษ์สิทธิ์ระบุว่ายังเป็นเรื่องของอนาคต และยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาอีกหลายจุด โดยเฉพาะส่วนของต้นทุนต่อคัน ที่สูงถึงประมาณ 7,000 บาท
นวัตกรรมเครื่องฝึกเดินสำหรับเด็กพิการทางสมอง ถูกนำไปจัดแสดงและร่วมประกวดในโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนักศึกษา (Student Innovation Challenge) หรือ i-CREATe 2015 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับรางวัลชมเชยด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ