สสนก. จับมือยูเอ็นเปิดตัว "ซอฟท์แวร์เชื่อมโยงแบบจำลองจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งระดับสูง" ยกระดับวงการจัดการน้ำโลก เตรียมใช้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่นำร่องทดสอบวิธีดำเนินการเหตุน้ำท่วมสลับแล้งแก้ไม่ตก คู่ลุ่มน้ำโวลต้าและทะเลสาบวิคตอเรียทวีปแอฟริกา ชี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำผิดพลาดน้อยลง
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ําและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมน้ำนานาชาติ (International Water Association : IWA) และ DHI ประเทศเดนมาร์ก จัดประชุมวิชาการนานาชาติโครงการจัดทำเครื่องมือสมัยใหม่สําหรับบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้ง (Flood & Drought Management Tools) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีจัดการปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2558 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ กทม.
นายโอลัฟ เจซเซน (Mr.Oluf Jessen) ผู้อำนวยการโครงการเครื่องมือบริหารจัดการน้ำท่วมภัยแล้ง สถาบันดีเอชไอประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ รุนแรงขึ้น ถี่ขึ้นและคาดการณ์ได้ยากขึ้น องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำทั่วโลกจึงจำเป็นต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำด้วยการบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ ความรุนแรง และความผันผวนของสถานการณ์น้ำที่หลากหลายสำหรับกระบวนการวางแผนและวิเคราะห์ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน (Transboundary Diagnostic Analysis : TDA) โครงการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Action Programme : SAP) และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management : IWRM) รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการใช้น้ำ (Water Save Plans : WSP) ในระดับท้องถิ่น
กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) และหน่วยงานด้านน้ำนานาชาติ (International Water : IW) จึงให้เงินทุนสนับสนุน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United National Environmental Program :UNEP) และสถาบันดีเอชไอ ประเทศเดนมาร์ก ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับสนับสนุนการตัดสินใจ หรือ ดีเอสเอส (DecisionSupport System: DSS) ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยจัดการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่มีความเป็นสากล โดยใช้พื้นที่นำร่องทดสอบจำนวน 3 แห่งอันได้แก่ ลุ่มน้ำโวลต้า ทวีปแอฟริกา, ทะเลสาบวิคตอเรีย ทวีปแอฟริกา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย
“โครงการนี้จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถรวบรวมข้อมูล แบบจำลอง ตัวชี้วัด และวิธีปฏิบัติเพื่อพัฒนาแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะดีเอสเอสเป็นซอฟท์แวร์ที่ระดับสูงที่จะทำให้การนำเข้าข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้ครอบคลุมและเห็นภาพได้กว้างกว่าซอฟท์แวร์หรือระบบจัดการน้ำในปัจจุบัน เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับดาวเทียมที่มีความแม่นยำและมีการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้นักวิเคราะห์สามารถประเมินได้ว่าภัยแล้งหรือน้ำท่วมจะรุนแรงถึงระดับไหน ครอบคลุมพื้นที่ใด ซึ่งจะทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือได้ เพราะดีเอสเอสมีเกณฑ์ต่างๆ ที่ชัดเจนที่จะมาช่วยให้การตัดสินใจทำได้รวดเร็วและเหมาะสม และที่สำคัญคือสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีตได้ด้วย” ผู้อำนวยการโครงการเครื่องมือบริหารจัดการน้ำท่วมภัยแล้ง กล่าวในที่ประชุม
ด้าน ดร.ปิยมาลย์ ศรีสมพร หัวหน้ากลุ่มงานแบบจำลอง ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสนก. นักวิจัยไทยที่พัฒนาเครื่องมือร่วมกับเดนมาร์ค อธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องมือจัดการปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เป็นซอฟท์แวร์ตรวจวัดที่ทันสมัย เพราะมีการซ้อนทับข้อมูลหลายชั้น ทำให้มีข้อดีกว่าซอฟท์แวร์วิเคราะห์สภาพภูมิอากาศที่ใช้ในปัจจุบันทั่วไปตรงที่สามารถวิเคราะห์ได้กว้างกว่า, มีมุมมองที่หลากหลายกว่า, สามารถวิเคราะห์ข้อมูลหลายๆ ส่วนได้พร้อมกันจากเดิมที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ทีละส่วน และสามารถเชื่อมโยงไปยังแบบจำลองทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งระยะสั้นและระยะยาวมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง โดยมีระยะดำเนินโครงการตั้งแต่ปี '57 ที่ผ่านมาจนถึงปี '61 ซึ่งจนถึงขณะนี้คณะนักวิจัยได้ทำเครื่องมือจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งต้นแบบบสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสร็จต้นแบบแรก โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการอบรมให้ความรู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้งานอย่างไรแก่บุคคลากรด้านวิเคราะห์ระดับสูง และทดลองนำเครื่องมือมาใช้ ควบคู่กับการวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ
ส่วนระยะการเห็นผลความเปลี่ยนแปลงของการจัดการรับมือกับภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง ดร.ปิยมาลย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะต้องนำเครื่องมือมาทดลองใช้แล้วเก็บข้อมูลไปสักระยะก่อน เพราะการพยากรณ์เกี่ยวกับน้ำมีเรื่องของฤดูกาล มรสุมต่างๆ เข้ามาซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งถ้าใช้ได้จริงการตัดสินใจเพื่อบริหารจัดการลุ่มน้ำจะทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีข้อมูลด้านน้ำเป็นจำนวนมาก แต่ใช้งานแบบูรณาการไม่ได้เพราะการบันทึกผล รายงานผลของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้รูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งเธอเชื่อว่าเครื่องมือดีเอสเอสจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้เพราะทุกหน่วยงานมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล ในข้อแม้ว่าจะต้องใช้ระบบในการรับเข้าและส่งออกข้อมูลในรูปแบบเดียวกันทั้งตัวเลข, ภาพ หรือกราฟชนิดต่างๆ
สำหรับความสามารถของเครื่องมือนี้ ดร.ปิยมาลย์เผยว่าจะเน้นไปที่การมอนิเตอร์ข้อมูลน้ำท่วมแบบซับซ้อน, การพัฒนาดัชนีภัยแล้ง และการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในแต่ละฤดูกาล ซึ่งเป็นการเติมเต็มระบบการจัดการน้ำให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ สสนก.รับนโยบายจากรัฐบาลให้พัฒนาระบบข้อมูลการแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวมาตั้งแต่ปี '55 ให้สามารถบริหารจัดการภาวะภัยแล้งได้เพิ่มเติม ซึ่งถ้าทำได้จริงจะขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านทางแถบอาเซียนด้วย เพราะอีกเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการ ก็เนื่องมาจากประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการทำงานเกี่ยวกับน้ำในระดับนานาชาติได้ ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน
“สรุปง่ายๆ ก็คือข้อมูลที่อัปเดตถูกต้อง แม่นยำ ซับซ้อนและข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับสถานการณ์เก่าๆ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งจากฐานข้อมูลทั้งหมดของเครื่องมือจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง ที่เรียกว่า ดีเอสเอส จะช่วยให้ผู้ใหญ่หรือกลุ่มคนที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ หรือพูดง่ายๆ คือคนที่สั่งปล่อยน้ำ หรือเก็บน้ำตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากขึ้นว่าจะบริหารการจัดการน้ำยังไงโดยเฉพาะสถานการณ์ที่กำลังวิกฤตเพราะทุกสิ่งถูกบังคับด้วยเวลา เครื่องมือนี้บอกได้หมด ทั้งปริมาณน้ำน้ำเป็นอย่างไร ฝนเป็นอย่างไร แล้งแค่ไหน มีขัอมูลหลากหลายทั้งแบบกว้าง,แคบ, ใกล้และไกลให้เลือกใช้ รวมถึงโมเดลและแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆ ก็มีให้ดู ว่าถ้าทำแบบนี้ผลที่ได้จะเป็นเช่นไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปล่อยน้ำที่พื้นที่ A บริเวณด้านเหนือ, ใต้, ออก, ตกของพื้นที่ A จะมีสภาพเป็นเช่นไร ซึ่งทั้งหมดถูกพัฒนาออกมาให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องเป็นวิศวกรด้านน้ำก็เข้าใจได้ ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างมันใจว่าถ้าเครื่องมือนี้เป็นตัวประกอบการตัดสินใจ การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของประเทศไทยก็จะมีน้อยลงอย่างแน่นอน" ดร.ปิยมาลย์กล่าว