xs
xsm
sm
md
lg

ถอดพันธุกรรม “พืชคืนชีพ” สู้ภัยแล้งรับมือโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิล ฟาร์แรนต์ ผู้คาดหวังว่ายีนของพืชคืนชีพจะช่วยเกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้  (AFP / Stephanie Findlay)
ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังเร่งเร้ามากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จากเซาท์แอฟริกาก็กำลังเป็นผู้นำในการวิจัยระดับโลกเพื่อพัฒนาพืชเพาะปลูก ที่เลียนแบบศักยภาพอันน่าทึ่งของ “พืชคืนชีพ” ที่สามารถฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาหลังจากแห้งเหี่ยวเพราะขาดน้ำนานหลายปีได้

จิลล์ ฟาร์แรนต์ (Jill Farrant) ศาสตราจารย์ด้านโมเลกุลและชีววิทยาเซลล์จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (University of Cape Town) ในแอฟริกาใต้ มีความหวังว่าจะปลดล็อครหัสพันธุกรรมของพืชทนแล้ง เพื่อช่วยเกษตรกรที่กำลังตรากตรำกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากขึ้น

ทั่วโลกมีพืชทนแล้งที่สามารถฟื้นคืนชีพ (resurrection plant) ที่รู้จักแล้วมากกว่า 130 ชนิด ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นกลุ่มไม้ดอกที่มีลักษณะเฉพาะที่รอดชีวิตได้แม้ขาดน้ำนานหลายปี

ระหว่างขาดน้ำในช่วงหน้าแล้ง พืชคืนชีพจะทำตัวคล้ายเมล็ดพันธุ์ที่ทำตัวแห้งจนเหมือนตายแล้ว แต่เมื่อฝนมาพืชดอกจะ “กลับมามีชีวิต” เปลี่ยนเป็นสีเขียวและสมบูรณ์อีกครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมง

ฟาร์แรนท์เผยแก่เอเอฟพีว่า เธอต้องการจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นให้แก่เกษตรกรเพื่อยังชีพ ซึ่งเป็นคนที่เป็นต้องการผลิตอาหารเพื่อดำรงชีวิต

“ตอนนี้เกษตรกรทั้งหลายกำลังท้อใจมากขึ้น มากขึ้น และความแห้งแล้งก็กำลังเข่นฆ่าพวกเขา” ฟาร์แรนท์กล่าว

ทั้งนี้ มีความหวังว่าพืชคืนชีพที่รู้จักกันดีที่สุดอย่าง ไมโรทัมนัสฟลาเบลลิโฟเลียส (Myrothamnus flabellifolius) ซึ่งสารเคมีต้านอนุมูลอิสระเพื่อปกป้องตัวเองระหว่างแห้งเหี่ยว อีกทั้งยังเป็นพืชที่ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของดีไซเนอร์ชื่อดัง

ในฐานะที่เป็นลูกสาวเกษตรกรฟาร์แรนท์ย้อนความหลังว่าในวัย 9 ขวบ เธอสะดุดตากับพืชคืนชีพ และรู้สึกทึ่งกับคุณสมบัติที่ดูเป็นอมตะของพืชดังกล่าว และยังเขียนบันทึกประวันจำวันเกี่ยวกับพืชที่ตายแล้วฟื้นกลับมาหลังฝนตก ในปี 1994 เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว และเป็นผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของโลกในสาขาที่เธอศึกษา

ทั้งนี้ นักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายต่างกลัวว่าพื้นที่แอฟริกาจะแห้งแล้งมากขึ้นๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น อีกทั้งปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคที่ลดลง และประชากรที่เพิ่มากขึ้นจะซ้ำเติมภาวะอดอยากให้หนักหนายิ่งขึ้น โดยอ้างข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะลดผลผลิตข้าวโพดทั่วแอฟริกาใต้ลงประมาณ 30% ก่อนถึงปี 2030

ในขณะที่การประชุมของสหประชาชาติปลายเดือน พ.ย.นี้ที่จะเกิดขึ้นในกรุงปารีสของฝรั่งเศส มีความกดดันในเรื่องการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ให้มากกว่าระดับเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยการลดใช้พลังงานฟอสซิล แต่นักวิทยาศาสตร์เรื่องดังกล่าวสำคัญพอๆ กับการปรับตัวเพื่อรับสภาพที่เป็นจริงใหม่ๆ

ด้าน รัทแทน ลาล (Rattan Lal) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ดินประจำมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University) สหรัฐฯ กล่าวว่า ทั้งดิน ระบบการเพาะปลูก และระบบเกษตรต้องมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างมโหฬารได้

“เราต้องทำให้ภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของเรา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกสิ่งทุกอย่างควรนำไปพิจารณา” ศ.ลาลกล่าว

หากประสบความสำเร็จฟาร์เรนต์จะก้าวตามความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์อาวุโสในยุคก่อนนี้ ซึ่งปกป้องความเสียหายให้แก่พืชไร่ด้วยเทคนิคเฉพาะ โดยเมื่อปีทศวรรษ 1970 ข้าวโพดในสหรัฐฯ ถูกกู้จากความเสียหายด้วยโรคใบไหม้ ด้วยการใช้ยีนต้านทานโรคที่พบในข้าวโพดสายพันธุ์อื่นๆ

ตอนนี้ฟาร์เรนต์กำลังให้ความสนใจกับหญ้า “เทฟฟ์” (teff) ซึ่งเป็นหญ้าท้องถิ่นในเอธิโอเปีย และเมล็ดของหญ้าถูกใช้เป็นอาหารที่สร้างความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคมาหลายร้อยปี เธอตั้งความหวังที่จะให้หญ้าดังกล่าวมีความทนทานมากขึ้น โดยการปลุกยีนที่เธอค้นพบระหว่างการศึกษาพืชคืนชีพ

“เป้าหมายหลักของฉันคือการผลิตพืชไร่ที่มีคุณสมบัติทนแล้งได้ดีขึ้น ถ้าเรามีตังค์นะ ฉันพูดได้เลยว่าภายใน 10-15 ปีจากนี้เราจะได้ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้” ฟาร์เรนต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า พืชทนแล้งได้ดีนั้นไม่ใช่ทางแก้หนึ่งจบของปัญหาภูมิอากาศระดับโลก หรือแม้แต่การแก้ปัญหาผู้หิวโหย

“ความมั่นคงอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับตลาด การค้า ราคาและการเข้าถึงอาหารของครัวเรือนด้วย” จิม เวอร์ดิน (Jim Verdin) นักวิทยาศาสตร์ด้านภัยแล้งจากองค์การสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ ในโบลเดอร์ โคโลราโด

ถึงอย่างนั้น ฟาร์แรนท์ผู้เคยได้รับรางวัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (Women in Science) ของยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 2012 เชื่อว่าเธอมาถูกทางแล้ว หากเธอสามารถควบคุมพลังของพืชคืนชีพได้ เกษตรกรเองจะมีโอกาสสูงที่จะรอด

“หากฝนไม่ตก มันไม่เป็นปัญหาเลย อย่างน้อยพืชไร่ของคุณก็ยังไม่ตาย เมื่อพืชได้รับน้ำฝน พวกมันก็พร้อมจะมีชีวิตต่อไป” ฟาร์แรนต์กล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น