xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนซากปลาเป็น "อาหารปูนิ่ม" ช่วยประมงใต้ลดค่าใช้จ่าย 33%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาหารปูสำเร็จอัดเม็ด ผลงานจาก บ.เอเชียนฟีด จำกัด
เอกชนเมืองใต้ผุดไอเดียทำ "อาหารเม็ดปูนิ่ม" จากซากปลาเหลือทิ้งพ่วงวิตามิน แก้ปัญหาอาหารปลาสดราคาแพง ปนเปื้อนแบคทีเรีย ลดขยะพลอยได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเล ช่วยชาวประมงประหยัดรายจ่าย 33%

นายวิธาน เตชะโกมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตลาดและการขาย บริษัท โอเชียนฟีด จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจประมงเพาะเลี้ยงปูนิ่มในไทยมีมานานกว่า 20 ปี โดยปูส่วนใหญ่ที่นำมาเลี้ยงจะเป็นปูนำเข้าจากประเทศพม่า ซึ่งมีราคาต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-90 บาท ซึ่งเมื่อนำมาเลี้ยงต่ออีกประมาณ 30-45 วันจนปูลอกคราบเป็นปูนิ่มจะสามารถขายได้ที่ราคาสูงถึง 120-130 บาทหากซื้อหน้าฟาร์ม และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านพ่อค้าคนกลาง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปวัตถุดิบเริ่มหายากขึ้น เพราะปูทะเลธรรมชาติมีจำนวนน้อยลงและนายทุนค้าปูในพม่าเริ่มลดการขายกับไทย เพราะต้องการผลิตปูนิ่มขายเอง ทำให้ราคาของปูตัวเต็มวัย ทั้งปูม้าและปูดำขยับสูงขึ้นถึง 130-160 บาท ผู้ประกอบการไทยจึงหันมาเลี้ยงปูเองเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องประสบปัญหากับปัญหาอีก เพราะปลาสดที่เป็นอาหารหลักของปูก็มีราคาสูงขึ้นจนอาจเสี่ยงจต่อการไม่คุ้มทุน และยังมีปัญหาการเน่าเสียของขยะปลาสด และโรคที่อาจเกิดจากแมลงและแบคทีเรียที่ตามมา ทำให้บริษัท โอเชียนฟีด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการทำอาหารกุ้ง และอาหารปลาทะเลเริ่มเห็นความสำคัญของการผลิตอาหารปูอัดเม็ด ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำ

“อุตสาหกรรมการผลิตปูนิ่มจะดำเนินไปได้ จะต้องมีลูกพันธุ์ที่ดี และเราจะต้องมีอาหารที่เหมาะสมซึ่งที่ผ่านมาสำหรับการเลี้ยงปู เราใช้ปลาสดเลี้ยงมาตลอด แล้วจะต้องเป็นปลาท่อนกลางที่ตัดหัว ตัดหางออกแล้วด้วยปูถึงจะกิน ซึ่งราคาปลาสดก็พุ่งไปสูงถึง กิโลกรัมละ 12-15 บาทแล้ว ซึ่งต้องใช้ปลาถึง 5 กิโลกรัม ต่อการนำมาสร้างเนื้อของปู 1 กิโลกรัม ที่สำคัญคือปลาสด หากทิ้งไว้นานจะเกิดการเน่าเสีย เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ที่อาจส่งผลระยะยาวไปถึงผู้บริโภคปูได้ ด้วยความที่บริษัทของเราดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิตอาหารกุ้งและปลาอยู่แล้ว จึงลองทำอาหารปูอัดเม็ดขึ้นด้วยตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน และพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นอาหารปูสูตรคุณภาพที่มีการนำมาใช้แล้วในฟาร์มปูนิ่มหลายๆ แห่งทางภาคใต้ของประเทศไทย และกำลังบุกตีตลาดพม่า ที่ขณะนี้กำลังตั้งไข่ผลิตปูนิ่มด้วยตัวเอง” นายวิธาน กล่าว

นายวิธาน ระบุว่า วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารปู ได้แก่ เศษปลาทูน่าและปลาซาดีน ที่ได้จากโรงงานปลากระป๋อง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย นำมาผ่านกระบวนการอบ แล้วป่นผสมกับกากถั่ว หัวกุ้ง น้ำเคี่ยวหมึกเหลือทิ้ง รวมถึงแร่ธาตุวิตามินที่จำเป็นทั้ง กรดอะมิโน, เมไทโอนีน และซีลีเนียม องค์ประกอบสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อของปู แล้วจึงนำมาอัดเม็ดให้มีขนาดเหมาะสมที่ความยาวประมาณ 1-2เซนติเมตร ก่อนนำเข้าเครื่องอัดสุญญากาศเพื่อดูดฟองอากาศในเม็ดอาหารปลา เพื่อทำให้หนักและจมน้ำได้ดีขึ้น เพราะในการผลิตชุดแรกยังประสบปัญหาอาหารปลาลอยและละลายเร็วจนปูกินไม่ทัน ทำให้สิ้นเปลืองกว่าที่เคยและเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยอาหารปลาชุดที่ 2 มีราคาต้นทุนที่กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับอาหารปลาสดถือว่าคุ้มทุนและประหยัดลงได้ถึง 33% เนื่องจากอาหารเม็ดสำหรับปูนิ่ม 1 กิโลกรัมสามารถสร้างเนื้อปูได้ 1 กิโลกรัม ในขณะที่ต้องใช้ปลาสดมากถึง 5 กิโลกรัม

นอกจากจะคุ้มค่า และมีราคาถูกกว่าแล้ว นายวิธานยังเผยอีกว่า อาหารปูสำเร็จอัดเม็ด ยังช่วยอำนวยความสะดวกและลดค่าแรงงานให้กับผู้ประกอบการด้วย เพราะอาหารปลาแบบสำเร็จสามารถเก็บไว้ในคลังได้ครั้งละมากๆ ไม่เน่าเสียเหมือนปลาสด และข้อดีของความเป็นอาหารเม็ดยังทำให้ผู้ประกอบการคำนวณการให้อาหารและการซื้อได้แบบชัดเจน เพราะอาหารปลา 100 กิโลกรัมจะมีปริมาณเท่ากันที่ 15,800 เม็ดทุกถุง ซึ่งปูจะกินอาหารทุกๆ 2-3 วัน ครั้งละ 1-2 เม็ด ช่วยประหยัดค่าแรงงานลงได้มาก จากที่ต้องเดินทางไปซื้อปลา จ้างคนมาสับปลา จ้างคนมาให้อาหารปลาเพื่อให้อาหารปูในทุกๆ วัน ซึ่งในอนาคต นายวิธานยังเผยด้วยว่า ทางบริษัทกำลังมีโครงการที่จะวิจัยเพื่อหาขนาดของอาหารปูที่เหมาะสมกับการกินของลูกปูในแต่ละช่วงวัย เพื่อผลิตอาหารปลาที่มีขนาดเหมาะสม เพื่อให้การให้อาหารปลาเป็นไปอย่างคุ้มประโยชน์มากที่สุด

“ตอนนี้หลายบริษัททางภาคใต้ที่ผลิตปูนิ่มขายก็นำไปใช้แล้ว โดยเฉพาะฟาร์มที่ จ.กระบี่และ จ.ระนอง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดี จนตอนนี้เราได้ขยายไปขายที่ประเทศพม่าด้วย ซึ่งขณะนี้ยอดขายยังทรงอยู่ แต่คาดว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีในอนาคต เพราะราคาปลาสดมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น จนในที่สุดพม่าต้องเปลี่ยนจากการใช้ปลามาใช้อาหารเม็ดของเราแทน ส่วนเรื่องของสูตรการผลิตทางบริษัทไม่ได้จดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เพราะถือเป็นงานวิจัยและพัฒนาที่นักวิจัยของเราทำร่วมกับกรมประมงด้วย แต่ถ้ามีบริษัทหรือผู้ประกอบการไทยที่สนใจและอยากผลิตบ้าง เราก็มี know-how ขายให้ เพราะเราอยากสนับสนุนให้การทำประมงปูนิ่มเป็นไปอย่างครบวงจร เพราะนอกจากจะหมายถึงจำนวนปูในธรรมชาติที่จะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำขยะจากการผลิตอาหารทะเลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง” นายวิธาน กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
การให้อาหารปูแบบเม็ดทำให้การทำประมงเป็นปริมาณมาก น้ำไม่เน่าเสียง่าย
การให้อาหารปูแบบเดิมจะต้องใช้เนื้อปลาสด ซึ่งมีราคาแพง, เน่าเสียได้ง่าย, เปลืองค่าแรงงาน, เสียเวลา
ปูดำนิ่มจากพม่ามีราคาแพงขึ้น ทำให้ประมงชาวไทยต้องเริ่มเลี้ยงเพาะพันธุ์ลูกปูเอง
รูปทรงของอาหารปูถูกวิจัยมาแล้วว่ามีความเหมาะสม และเป็นสูตรที่พัฒนาให้จมช้าเพื่อให้ปูกินทัน
ปูดำปูม้าปกติมีราคากิโลกรัมละ 120-150 บาทแต่พอเลี้ยงไว้อีก 45 วันจนมีการลอกคราบเปลี่ยนเป็นปูนิ่มจะมีราคาสูงถึง 350 บาท
ปูหนึ่งตัวจะกินอาหาร 3 วันครั้ง ครั้งละ 1-2 เม็ด
นายวิธาน เตชะโกมล ขณะอธิบายความสนใจนวัตกรรมให้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟัง ซึ่งปลัดฯ ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดของการผลิตอาหารปูเป็นอย่างมาก









กำลังโหลดความคิดเห็น