xs
xsm
sm
md
lg

หญิงเก่ง “กูริบ-ฟาคิม” ประธานาธิบดีนักวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อามีนาห์ กูริบ-ฟาคิม
“มอริเชียส” อาจเป็นชื่อประเทศที่คนไทยไม่คุ้นหูนัก แต่สาธารณรัฐเล็กๆ ซึ่งเป็นเกาะตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้นั้นมีบุคคลไม่ธรรมดาอย่าง “อามินาห์ กูริบ-ฟาคิม” ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยทางด้านเคมีอินทรีย์ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย

“ดร.อามินาห์ กูริบ-ฟาคิม” (Dr.Ameenah Gurib-Fakim) เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐมอริเชียส (Mauritius) เมื่อ 5 มิ.ย.58 ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 6 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก แต่ก่อนหน้านี้งานหลักของเธอคืองานวิจัยทางด้านเคมีอินทรีย์ และมีผลงานเด่นทางด้านการศึกษาพืชสมุนไพรและยาของแอฟริกา

จากประวัติส่วนตัว ดร.กูริบ-ฟาคิม จบการศึกษาสาขาเคมีในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ สหราชอาณาจักร และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอกซ์ซีเตอร์ เมื่อปี 2530 และเป็นช่วงที่เธอเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยเมอริเชียสในบ้านเกิด นอกจากนี้เมื่อปี 2556 เธอยังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปิแอร์ เอ มารี กูรี ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส

ในคลิปแนะนำตัวเองหลังจากได้รับรางวัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (L'Oreal-UNESCO Prize for Women in Science) โดยลอรีอัล-ยูเนสโกเมื่อปี 2550 ประธานาธิบดีแห่งมอริเชียสระบุว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเธอศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุล โปรตีน และกรดอะมิโน แต่เป้าหมายการทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ของเธอคือการสังเคราะห์โมเลกุลใหม่ ซึ่งต้องศึกษาทางด้านเคมีอินทรีย์



ทว่าการทำงานในสายอาชีพวิทยาศาสตร์โดยเริ่มต้นจากงานด้านการศึกษานั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะค้นพบสิ่งใหม่ๆ ดร.การิบ-ฟาคิมจึงต้องตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเพื่อให้เป็นที่รู้จัก และเธอได้เผยในภายหลังระหว่างการสนทนาในคืนพบประธานาบดีนักวิทยาศาสตร์ (L'Oreal A night with the Scientist President) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับเธอคือช่วงเวลาที่คณะกรรมการพิจารณารับผลงานของเธอเพื่อตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ ซึ่งน่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกันสำหรับนักวิทยาศาสตร์ทุกคน

งานทางด้านเคมีอินทรีย์ของเธอคือการสกัดสารออกฤทธิ์รักษาโรคต่างๆ จากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น ซึ่งช่วงแรกที่เธอขนวัชพืชเข้าห้องปฏิบัติการ ผู้คนต่างหัวเราะเยาะ แต่เธอเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของเธอนั้นเป็นเหมือนคลื่นเล็กๆ ที่สุดจะรวมเป็นคลื่นยักษ์สินามิ ด้วยเป้าหมายที่จะค้นพาสารสกัดออกฤทธิ์สำหรับรักษาโรคเพื่อลดค่าใช้ของประเทศจากการนำเข้ายา

เมื่อเข้าสู่การทำงานการเมืองหลายคนอาจมองว่าเป็นงานคนละขั้วกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่วิธีการทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ฝึกให้เธอตัดสินใจบนพื้นฐานความจริง และได้มาทำงานการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายเลือกเธอเข้ามานั้นก็ยังใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ อีกทั้งในฐานะประธานาธิบดีนักวิทยาศาสตร์เธอมุ่งหวังจะนำประเทศสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายของศตวรรษที่ 21

อีกคำถามที่น่าสนใจว่าเธอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ ซึ่งประธานาธิบดีนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มอริเชียสนั้นเป็นประเทศที่มีกลุ่มความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่างกันหลักๆ 4 กลุ่ม โดยมีชาวฮินดูเป็นประชากรใหญ่สุด 85% รองลงมาคือชาวคริสต์ประมาณ 20% ตามมาด้วยชาวพุทธ ที่เหลือคือชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรกลุ่มน้อยและเธอเองก็เป็นมุสลิม แต่ทุกกลุ่มต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อีกทั้งเธอยังคงทำงานวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานความเชื่อของศาสนาได้

“หากประเทศเล็กๆ อย่างมอริเชียสทำได้ ส่วนอื่นของโลกก็ทำได้เช่นกัน” ดร.การิบ-ฟาคิมกล่าวอย่างเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ดร.การิบ-ฟาคิมยังบอกด้วยว่ามีคนตั้งคำถามแก่เธอมากมายเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงและการทำงานในฐานะประธานาธิบดีหรือแม้แต่ผู้นำในด้านงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งแนวทางของเธอคือการทำงานให้ดีและเป็นเลิศ เมื่อถึงจุดนั้นทุกคนจะมองข้ามในเรื่องเพศ และทุกอย่างที่ทำนั้นเธอตัดสินใจเลือกจากงานที่เธอทำแล้วมีความสุข


คลิปการบรรยาย TED Talk ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร บราซิล เมื่อเดือน ต.ค.2557












กำลังโหลดความคิดเห็น