xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือเท็จ! เจาะลึกเรื่อง “ทุเรียนเทศ” รักษามะเร็งได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความโดย : ผศ.ศิรินทร พิศุทธานันท์
ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก

เราทราบกันดีว่า การรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง แนวทางการศึกษาวิจัยจึงมุ่งหาสารที่ได้จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการพิชิตเนื้อร้ายมะเร็งอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาของสารสกัดธรรมชาติทั้งหลายที่ทำให้การพัฒนาศักยภาพของมันมีข้อจำกัด ก็เพราะว่า สารเหล่านี้มักจะมีปริมาณของตัวมันหรือตัวที่ออกฤทธิ์ในกระแสเลือดที่ต่ำ หรือ “มีค่าชีวประสิทธิผลที่ต่ำ” จึงทำให้ประสิทธิผลในการรักษาไม่ดีเท่าการใช้ยาแผนปัจจุบันหรือยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติย่อมมีข้อดีกว่าสารสังเคราะห์เป็นแน่แท้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่ากันด้วย “ความปลอดภัย”

กล่าวกันว่า สารที่ได้จากธรรมชาติ โดยเฉพาะจากพืชผักที่เราใช้เป็นอาหารหรือเป็นสมุนไพร ย่อมมีความเป็นพิษต่อร่างกายคนเราน้อยกว่ายาเคมีบำบัดซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสารสังเคราะห์ขึ้นมา ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ายิ่งนักต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป โดยมีเป้าหมายหลักๆ เพื่อค้นหาสารหรือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่สามารถนำมาทดแทนยาเคมีบำบัด

สารสกัดธรรมชาติตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “แอนโนนาเชียสอะซีโตเจนิน” (Annonaceousacetogenins) หรือเรียกย่อๆ ว่า ACGs ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในพืชจำพวกน้อยหน่า โดยพื้นฐานแล้ว พบว่า ACGs เป็นอนุพันธ์ของกรดไขมันขนาดสายโซ่ยาว ประกอบขึ้นจากคาร์บอนอะตอมจำนวน 35 ถึง 37 อะตอม และมีหมู่ฟังก์ชั่นสำคัญอื่นๆ ที่มีออกซิเจนอะตอมประกอบอยู่ในโมเลกุล

สารกลุ่ม ACGs นี้เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ ซึ่งคำว่า “สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ” อธิบายคร่าวๆ ได้ว่าเป็นสารจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ ทั้งนี้ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีนั้นจะต้องเป็นสารที่มีผลจำเพาะเจาะจง เช่น มีฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งเต้านม และสารนั้นจะต้องไม่มีผลเสียต่อร่างกาย หรือถ้ามีก็น้อยมาก เพราะเมื่อใดก็ตามที่สารเหล่านั้นถูกนำมาแปรรูปให้เป็นยาหรือเป็นส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ในตัวยานั้นๆ เราย่อมไม่ต้องการให้ยามีผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้นมีผลเฉพาะต่อเชื้อโรค หรือส่วนเกินของของร่างกาย เช่น เนื้องอก เนื้อร้ายมะเร็ง

ทีนี้ เรามาทำความรู้จักกับตัวพระเอกของเราอย่าง ACGs กันให้ละเอียดยิ่งขึ้น

เราพบว่า ACGs เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพอันได้แก่ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญและทำลายเซลล์มะเร็ง มีฤทธิ์ต้านปรสิต มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ยับยั้งเชื้อรา และฤทธิ์กดภูมิต้านทาน

ฤทธิ์ทางชีวภาพที่คนเราให้ความสนใจต่อสาร ACGs เป็นอย่างมาก คือการที่มันทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สิ้นชีวิต โดยเราพบว่าเจ้าสาร ACGs จะไปส่งผลต่อการสร้างพลังงานของเซลล์ โดยไปยับยั้งการทำงานของสารตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า mitochondrial complex I ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสารตัวนี้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานของเซลล์ อธิบายง่ายๆ ก็คือ สาร ACGs ไปยับยั้งไม่ให้เซลล์สร้างพลังงานไว้ใช้ได้

ดังนั้น เมื่อเซลล์ไม่มีพลังงานใช้ เซลล์ก็จะไม่สามารถแบ่งตัวเพื่อทำการเจริญเติบโตต่อไปได้ และค่อยๆ ตายไปในที่สุด ทีนี้ ในเมื่อเซลล์มะเร็งต้องการใช้พลังงานอย่างมากเพื่อแบ่งตัวให้ตัวมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราสามารถยับยั้งการทำงานของ mitochondrial complex I ได้ก็จะนำไปสู่หนทางที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งต่อไปในอนาคต แต่คุณสมบัติในข้อนี้ของ ACGs ยังคงไม่มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เพราะทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งก็มีสาร mitochondrial complex I เช่นกัน

ดังนั้น ACGs จึงไปยับยั้งสาร mitochondrial complex I ทั้งของเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง แต่ด้วยความที่เซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวที่เร็วกว่าเซลล์ปกติ ACGs จึงน่าจะส่งผลต่อเซลล์มะเร็งได้ค่อนข้างดี แต่ก็ใช่ว่าเซลล์ปกติจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะในขณะเดียวกัน เราก็พบว่า ACGs กลับมีผลในการยับยั้งเอนไซม์ NADH oxidase ที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์มะเร็งด้วย โดยเอนไซม์ NADH oxidase นี้ เราเชื่อกันว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายมะเร็ง ดังนั้นเมื่อสาร ACGs ไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์มะเร็ง จึงส่งผลให้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ทีนี้ สาร ACGs นั้น นอกจากจะสามารถสกัดได้จากพืชวงศ์น้อยหน่าแล้ว เรายังพบว่าพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อที่คนไทยเรียกกันว่า “ทุเรียนเทศ” ก็มีสารตัวนี้อยู่เช่นกัน คงถึงบางอ้อกันแล้วว่า ทำไมเราถึงพบเห็นสรรพคุณในการรักษามะเร็งของทุเรียนเทศแพร่สะพัดอยู่ในโลกออนไลน์ที่กระหน่ำกดไลค์กดแชร์สรรพคุณที่สะท้านสะเทือนวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ในแง่ของการเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถช่วยรักษาหรือบรรเทามะเร็งได้

ในขณะที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่กล้าที่จะยืนยันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “ยาเคมีที่ใช้ในการบำบัดมะเร็ง” สามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยชะลอไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ถ้าการตอบสนองต่อยาเคมีได้ผลดี ก็จะสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ แล้วทุเรียนเทศล่ะ ไฉนจึงเก่งกล้าสามารถขนาดนั้น เราสามารถนำมาใช้ในการรักษามะเร็งได้จริงหรือ ถ้าได้จริง ใช้กับมะเร็งชนิดใด และต้องรับประทานมากน้อยแค่ไหน ใช้ส่วนไหนของทุเรียนเทศ ความปลอดภัยในการใช้มีมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ได้รับการยอมรับจากแพทย์แผนปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งว่าสามารถรับประทานร่วมกับยาเคมีแผนปัจจุบันหรือยาแผนปัจจุบันอื่นๆ ได้หรือไม่

เรามาทำความรู้จักกับเจ้าทุเรียนเทศกันดูว่า เขามีหน้าตาและคุณสมบัติเป็นเช่นใด และจริงหรือไม่ที่เราสามารถนำมาใช้รักษามะเร็งได้

“ทุเรียนเทศ” เป็นพืชคนละชนิดกับทุเรียน ทุเรียนเทศมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Annonamuricata L. โดย Annona มาจากภาษาลาตินคำว่า Menona ส่วน muricataมาจากภาษาลาตินคำว่า muricatus แปลว่าหนามสั้นๆ หรือเงี่ยง น่าจะมาจากลักษณะของเปลือกผลนั่นเอง

ต้นตระกูลของทุเรียนเทศมาจากประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้สามารถพบเห็นทุเรียนเทศได้ในประเทศเม็กซิโก คิวบา เอกวาดอร์ โคลอมเบีย บราซิล เปรู เวเนซูเอลา และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในหนังสือผลไม้ไทยๆ ที่ทางคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2545 กล่าวไว้ว่า

... ชาวสเปนนำเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเข้าไปในฟิลิปปินส์ แล้วข้ามไปสู่มาเลเซีย ส่วนไทยเรานั้นนำเข้ามาจากมาเลเซียอีกทีหนึ่ง ที่กล่าวเช่นนี้เพราะไทยขอยืมชื่อมาเลเซียที่ชื่อว่า “Durian belanda ทุเรียน บีลันดา” มาใช้ โดยดัดแปลงมาเป็นภาษาไทยที่ชื่อว่า “ทุเรียนฮอลันดา” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นของต่างชาติ ไม่ใช่ของพื้นบ้านไทย ไทยเราจึงเรียกผลไม้นี้ว่า “ทุเรียนเทศ” และบางครั้งเราอาจจะได้ยินชื่อเล่นของทุเรียนเทศอีกชื่อว่า “ทุเรียนแขก” ก็หมายถึง แขกมลายูนั่นเอง อีกประการหนึ่งคำ “ทุเรียน” นำหน้า ทั้งๆ ที่เป็นผลไม้มาจากคนละซีกโลกนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกันแต่อย่างใดเลย แต่เป็นเพราะทุเรียนเทศลูกโตๆ ที่หนักถึงลูกละ 4 หรือ 5 กิโลกรัม มีขนาดใกล้เคียงกับทุเรียนที่เป็นผลไม้ที่นิยมนำมารับประทานกันในบ้านเรา แถมยังมีหนามนิ่มๆ ตามผิว ทำให้ยิ่งแลดูคล้ายทุเรียนไปกันใหญ่

ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะได้ยินทุเรียนเทศในชื่อที่หลากหลายออกไป ไม่ว่าจะเป็น “ทุเรียนแขก” (ดังกล่าวไว้ข้างต้น) ในขณะที่ทางภาคเหนือเรียกว่า “มะทุเรียน” ชื่อสามัญหรือชื่อทั่วๆ ไปมีมากมาย สุดแล้วแต่ว่า แต่ละประเทศจะขนานนามให้ว่าอย่างไร เช่น ทางอังกฤษเรียกว่า Sour sop ส่วนมาเลเซียเรียกว่า Durian belanda คนสเปนเรียก Guanabana ในขณะที่แถบอเมริกาใต้แหล่งกำเนิดพืชชนิดนี้เรียกทุเรียนเทศว่า Graviola ทั้งนี้ทางพฤกษอนุกรมวิธานจัดพืชนี้อยู่ในวงศ์ Annonaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า น้อยโหน่ง

ทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พืชที่อยู่ในมือเรานี้เป็นทุเรียนเทศจริง?
ทุเรียนเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เปลือกต้นมีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เหนียว ใบรูปรี กว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 9-15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา ผิวใบเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบด้านบนเป็นร่องเล็กน้อย ผล เปลือกผลสีเขียว มีหนามอ่อนเล็กๆ ห่างๆ เนื้อที่ติดอยู่กับเปลือกหลุดออกง่าย มีสีขาวครีม อ่อนนิ่ม ฉ่ำน้ำ ค่อนข้างมีใย รับประทานได้ เนื้อผลรสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดจำนวนมาก สีดำหรือน้ำตาลเข้มเป็นมัน ผลขนาดใหญ่มีเมล็ดได้ถึง 200 เมล็ด

ทุเรียนเทศชอบขึ้นตามดินทราย ทนความแห้งแล้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกกันมากทางภาคใต้มากกว่าทางภาคอื่นๆ คาดว่าได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลมาจากมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรานี้เอง ที่เมืองไทยยังไม่นิยมปลูก คงเพราะยังไม่รู้จักวิธีใช้ประโยชน์ของไม้นี้เหมือนในประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย

ปกติแล้ว เราจะไม่รับประทานผลสุกสดของทุเรียนเทศในทันที ส่วนใหญ่จะนำเนื้อขาวของมันมาทำเป็นเครื่องดื่ม หรือทำไอศกรีม อย่างไรก็ตาม ผลที่อ่อนและเมล็ดยังอ่อนสามารถรับประทานเป็นผักได้ ส่วนผลแก่ที่เนื้อยังแข็งใช้ทำขนมหวาน

เมื่อจะดูถึงสรรพคุณหรือฤทธิ์ในการรักษามะเร็ง เราพบว่าพืชในวงศ์ทุเรียนเทศนี้มีสาร ACGs เช่นกัน ซึ่งพบมากในส่วนที่เป็นผลและใบของทุเรียนเทศ โดยสารดังกล่าวเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น กดภูมิคุ้มกัน ฆ่าแมลง ต้านการง่วงนอน ต้านมาลาเรีย และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง

จากการทดลองกับเซลล์ที่แยกออกมาจากสิ่งมีชีวิต พบว่า สาร ACGs ที่มีอยู่ในทุเรียนเทศนั้นไปขัดขวางไม่ให้มีการสลายสารอาหาร เป็นที่รู้กันดีว่า เซลล์ต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องอาศัยพลังงานในการดำรงชีวิต ซึ่งพลังงานที่ว่านั้นก็มาจากสารอาหารนี้เอง ดังนั้น เมื่อสาร ACGs ไปขัดขวางไม่ให้มีการสลายสารอาหาร เมื่อไม่มีการสลายสารอาหารจึงไม่เกิดพลังงานขึ้นภายในเซลล์นั้นๆ จึงทำให้เซลล์เหล่านั้นตายในที่สุดซึ่งก็เป็นกลไกเดียวกับที่พบใน ACGs ที่ได้จากพืชวงศ์น้อยหน่านั่นเอง

แม้จะมีรายงานการวิจัยว่า สารสกัดใบทุเรียนเทศด้วย n-Butanol มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงให้เติบโตและเพิ่มจำนวนได้อย่างต่อเนื่องอย่างไม่จำกัดภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตหรือในหลอดทดลอง แต่ก็พบว่า สารสกัดดังกล่าวก็มีพิษต่อเซลล์ปกติด้วยเช่นกัน นั่นคือ ตัวมันเองก็ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งแต่อย่างใด

ที่น่าสังเกตคือ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณในการรักษามะเร็งของทุเรียนเทศอย่างเป็นระบบแบบแผนในสัตว์ทดลองตลอดจนมนุษย์อย่างพวกเราที่เป็นมะเร็ง จะมีก็แต่ในส่วนที่ทำการทดลองในเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงในหลอดทดลองเช่นเดียวกับสาร ACGs ที่ได้จากพืชวงศ์น้อยหน่าซึ่งมีแต่การศึกษาถึงการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของ ACGs ที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองเท่านั้นแต่ก็ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางคลินิกที่เพียงพอที่จะพิสูจน์ยืนยันได้ว่าสารกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ต้านเจ้าเนื้อร้ายมะเร็งในร่างกายคนได้จริงหรือไม่

เพราะยังมีปัจจัยอีกหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งในร่างกายคน ที่แตกต่างและซับซ้อนกว่าการเลี้ยงเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง และแน่นอนยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการรักษาแผนปัจจุบัน ข้อมูล ณ ปัจจุบันบอกได้แต่เพียงว่ามันมีฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ เรายังตอบโจทย์ไม่ได้แน่นอนว่า ใช้รักษาในมะเร็งชนิดใด ต้องใช้ในขนาดเท่าใด วิธีใดได้ผลมากที่สุด กินสดๆ ต้มกิน หรือว่าทำออกมาในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย การใช้จึงต้องใช้อย่างมีสติ บางคนอาจจะตอบสนองได้ดี บางคนกินแล้วอาจจะไม่เห็นผล แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ อยู่ที่ว่าเราจะมีวิจารณญาณอย่างไร

สำหรับในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดในแง่ของการนำทุเรียนเทศมาเป็นอาหาร เช่นเดียวกับในการใช้รักษาโรค ดังนั้น การจะบอกว่า “ทุเรียนเทศจัดเป็นสมุนไพรไทยหรือไม่นั้น” คงบอกได้แค่ว่า “ทุเรียนเทศจัดเป็นสมุนไพรในต่างประเทศ” เช่น ในแถบอเมริกาใต้ที่เป็นถิ่นกำเนิดของพืชชนิดนี้ ชาวพื้นเมืองแถบนั้นนำทุเรียนเทศมาใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์

ทั้งนี้ ทุเรียนเทศและน้อยหน่าเป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ Annonaceae และมีสกุล (genus) เดียวกัน คือสกุล Annona ว่ากันง่ายๆ คือ เสมือนเป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งในทางวิชาการเราเรียกว่ามีความใกล้เคียงกันทางพฤกษอนุกรมวิธาน จึงมีความเป็นไปได้ว่า พืชสองชนิดนี้จะมีการสร้างและสะสมสารเคมีในกลุ่มเดียวกันหรือสารที่มีความใกล้เคียงกัน ที่สำคัญในการใช้ทางพื้นบ้าน ชาวบ้านจะนำใบหรือเมล็ดน้อยหน่ามาใช้ฆ่าเหา โดยการโขลกใบหรือเมล็ดน้อยหน่าให้พอแหลก ผสมกับน้ำมันมะพร้าว แล้วใช้หมักผม สิ่งที่ต้องระวังในการใช้คือ อย่าให้ไหลย้อยลงมาสัมผัสใบหน้าหรือเข้าตา เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่อ่อน เช่น เยื่อบุตา ทำให้แสบตา ตาแดงได้

ดังนั้น จึงควรระลึกไว้เสมอว่าการขบเคี้ยวใบทุเรียนเทศอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนๆ ภายในช่องปากของเราได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ ไม่ควรเคี้ยวหรือรับประทานทั้งใบ
เอกสารอ้างอิง
1.ปิยะ เฉลิมกลิ่น. พรรณไม้วงศ์กระดังงา.กรุงเทพฯ: บ้านและสวน, 2544.
2.คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. ผลไม้ไทยๆ. กรุงเทพฯ: สหมิตรพริ้นติ้ง, 2545.
3.Sabrira Sultana, et al. Medicinal Plants Combating Against Cancer - a Green Anticancer Approach. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention11, 15(2014): 4385-4394.
4.Biba V. S., et al. Anticancer, Antioxidant and Antimicrobial activity of Annonaceae Family. World Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 3, 3(2014): 1595-1604.
5.GurpreetKaur and NeelamVerma. Nature curing cancer - review on structural modification studies with natural active compounds having anti-tumor efficirncy. Biotechnology Reports 6(2015): 64-78.
6.Natalia Bailon-Moscoso, et al. Medicinal plants of Ecuador: a review of plants with anticancer potential and their chemical composition. Medicinal Chemistry Research online available from http://www.Sciencediract.com.
7.Feras Q. Alali, Xiao-Xi Liu, and Jerry L. McLaughlin. Annonaceous Acetogenins: Recent Progress. Journal of Natural Products 62(1999): 504-540.
 

กำลังโหลดความคิดเห็น