xs
xsm
sm
md
lg

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม

ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/


เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับหน่วยงานภายนอกหน่วยงานหนึ่งในเรื่องราวเกี่ยวกับห้องสมุดและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหนังสือที่มีการเผยแพร่และจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ทราบว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาได้จัดหาหนังสือจากทั่วโลกไปบรรจุไว้ในห้องสมุดโดยจัดเป็นหมวดหมู่พิเศษ (Special Collection) มานานแล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าสิ่งตีพิมพ์เหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบใดและภาษาใด จากรูปเป็นเว็บห้องสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่แสดงข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศของประเทศจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี ที่มีให้บริการในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย
ที่มา http://asia.library.cornell.edu/ac/Wason/index
นั่นทำให้ผมเกิดความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมว่านอกจากหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์เหล่านั้นแล้ว ทางโน้นเค้ายังมีอะไรอีก และเมื่อลองเข้าไปสืบค้นดูก็พบความจริงที่น่าประหลาดใจว่า มีถึง 65 มหาวิทยาลัยทั่วโลกไม่นับมหาวิทยาลัยในประเทศของเรามีหลักสูตร เอเชียศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเสียด้วย เช่น คอร์เนล ยูซีแอลเอ เคมบริดจ์ ยูออฟลอนดอน และอีกมากมาย ไม่นับศูนย์ศึกษาและวิจัยซึ่งไม่ได้ทำการเรียนการสอน ในขณะเดียวกัน เมื่อผมลองสืบค้นดูในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรเอเชียศึกษา เช่น จุฬาฯ ศิลปากร ธรรมศาสตร์ เกษตร และมีหลักสูตร อังกฤษและอเมริกันศึกษาของธรรมศาสตร์ และอเมริกันศึกษาของขอนแก่น เท่าที่ผมสืบค้นด้วยกูเกิลและพบในสองสามหน้าแรก ขอเน้นว่าหลักสูตรการเรียนการสอนนะครับ
ที่มา http://www.hotcourses.in.th/study/training-degrees/international/masters/asian-studies-courses/slevel/57-3-3/cgory/fm.7-4/sin/ct/programs.html
มาถึงตอนนี้ ผมก็หมดข้อสงสัยแล้วว่า ไม่ว่าเราหรือประเทศในแถบนี้จะขยับไปทางไหนอย่างไร หรือประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม ภาษา เค้าจะทราบหมดและด้วยข้อมูลในยุคปัจจุบันที่มีมากมาย (Big Data) โดยที่คนทั่วไปก็นิยมนำไปฝากไว้หรือเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้เค้าสามารถเข้าถึงและนำไปวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ ได้ แม้เราจะเขียนวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นภาษาของเราเองหรือภาษาท้องถิ่นของกลุ่มประเทศอาเซียนก็ตาม หากมองในแง่ธุรกิจ เค้าก็จะสามารถผลิตสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการได้ แต่หากมองในแง่การเมืองและสังคม เค้าก็จะรู้อีกว่าตอนนี้ประชาชนคนไทยคิดอย่างไรกับกับประเด็นร้อนๆ ในสังคม ทั้งนี้เพราะทุกโพสท์บนเว็บสามารถนำไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมได้ทั้งสิ้น แม้จะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ทำให้สามารถคาดการณ์และทำนายอนาคตได้ประมาณหนึ่ง ยกตัวอย่างว่า ล่าสุดมีข่าวเรื่องข้อมูลเรื่องการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของคนไทย [1] เป็นต้น ก็นำมาซึ่งการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมถึงการใช้เป็นช่องทางโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างมากมาย และนอกจากการรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ที่สำคัญมากกว่าคือรู้ก่อน เพราะหากเรารู้ก่อนเราก็จะสามารถผลิตสินค้าและบริการ และจำหน่ายได้ก่อน คงไม่ต้องบอกนะครับว่าจะได้ผลตอบแทนขนาดไหน กว่าคู่แข่งจะรู้ตัวหรือกว่าจะมีใครคิดมาแข่งก็สายเสียแล้ว

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ผมว่าชาติตะวันตกได้ใช้ตำราพิชัยสงครามที่คิดขึ้นโดยชนชาติตะวันออกคือ ซุนวู [2] ที่กล่าวไว้ประมาณว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” แต่เราเองเป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกับซุนวูแท้ ๆ ดูเหมือนยังห่างไกลจากการรู้เขารู้เราโขอยู่ และหากเราคิดว่าเราคืออาเซียน เราก็ยังไม่ รู้เรา ซะอีก โดยเห็นได้จากหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเอเชียศึกษาที่เปิดกันไม่มากนัก รวมทั้งศูนย์ศึกษาที่เพิ่งเริ่มเปิดมากขึ้นในระยะหลังมานี้ รวมทั้งแหล่งข้อมูล เช่น ห้องสมุดเฉพาะทาง และ special collections สำหรับทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวกับเอเชียและอาเซียนก็ยังมีน้อยและไม่เป็นที่รู้จักหรือให้บริการอย่างแพร่หลาย และเพิ่งเริ่มต้นเสียด้วย ซึ่งแน่นอนว่ายังมีทรัพยากรสารสนเทศไม่มากนัก ต่างจากในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองแล้ว นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่ว่าจะต่อสู้กันในสงครามใด โอกาสในชัยชนะของเราจึงน้อยนิด

ภาครัฐรวมไปถึงสถาบันอุดมศึกษาคงต้องเข้ามามีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ การให้ความรู้โดยการเปิดหลักสูตรที่ศึกษาประเทศอื่น ๆ การเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัย รวมทั้งการดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้ ให้มากและแพร่หลายกว่าในปัจจุบัน นี่ก็ไม่ใช่ความคิดของผมหรอกครับ ก็อย่างที่เกริ่นไว้ในช่วงแรก ก็สืบค้นเอาจากอินเทอร์เน็ตแล้วเห็นชาวบ้านเค้าทำกัน ก็เอามาเล่าสู่กันฟัง แต่ถ้าเราจะมีนวัตกรรมในการดำเนินการแบบของเราเองก็ไม่ว่ากันนะครับ

วันนี้เราเริ่มศึกษาตัวเอง เพื่อนบ้าน และประเทศอื่น ๆ อย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

อ้างอิง :
[1] http://www.thairath.co.th/content/494358
[2] http://th.wikipedia.org/wiki/ซุนวู

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน สำนักบรรณสารการพัฒนา คณะสถิติประยุกต์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น