xs
xsm
sm
md
lg

ประธานมูลนิธิอุทกพัฒนฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พะเยา- เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริฯ บ้านตุ่น เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนตามแนวทางพระราชดำริ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ กรอบคิด กรอบงานมาพัฒนาจัดการน้ำชุมชนจนประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน อธิบายผ่านแผนที่ และภาพ ความเปลี่ยนแปลงให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา คณะผู้บริหาร และข้าราชการ จากส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมในพิธี

ชุมชนตำบลบ้านตุ่น ตั้งอยู่พื้นที่ลาดเอียงจากอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ทอดยาวสู่กว๊านพะเยา มีลำน้ำแม่ตุ่น เป็นลำห้วยสายหลักไหลผ่านชุมชน ลงสู่กว๊านพะเยา ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางส่วนมีการบุกรุก และทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฝายทดน้ำแม่ต๊ำ และทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณบ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 พร้อมชาวบ้านได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2529 มีขนาดความจุ 580,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร และในปี พ.ศ.2557 สถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ และการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนให้ข้อมูลความรู้รวมทั้งถ่ายทอดประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ชุมชน และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับชุมชนดำเนินการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มสำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เก็บข้อมูลจัดทำแผนที่ และขยายผลออกไปยังชุมชนใกล้เคียง

ปัจจุบัน ชุมชนตำบลบ้านตุ่น ได้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ ทรัพยากร ดิน น้ำป่า และบริหารจัดการ อ่างเก็บน้ำห้วยตุ่นด้วยระบบ “ต๊างนา” เพื่อกระจายน้ำไปตามร่องเหมืองเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และสร้างฝายกึ่งถาวรกั้นลำน้ำห้วยแม่ตุ่นตลอดระยะทาง เพื่อช่วยชะลอน้ำลดการกัดเซาะในช่วงฤดูน้ำหลากและเพิ่มการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งขุดลอกคลองเชื่อมต่อกว๊านพะเยา และดักตะกอน ก่อนน้ำไหลสู่กว๊านฯ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดความเสียหายจากน้ำท่วมน้ำหลากบริเวณบ้านสันกว๊านพื้นที่กว่า 500 ไร่

ผลจากการดำเนินงานมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 3,700 ไร่ จำนวน 1,600 ครัวเรือน มีปริมาณน้ำสำรองในพื้นที่ประมาณ 99,200 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ชุมชนยังดำเนินงานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่ายในครัวเรือนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 ถึง 50,000 บาทต่อปี เป็นตัวอย่างความสำเร็จให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น