xs
xsm
sm
md
lg

โคคา-โคลาฯ หนุนการรับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน ชูแบบอย่างโครงการ “รักน้ำ” ที่ชุมชนบึงชำอ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) อักษร น้อยสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และนายเทียบ สืบทอง กำนันตำบลบึงชำอ้อ ณ บริเวณนาข้าวที่ชาวบ้านหยุดทำนาชั่วคราวและปรับมาปลูกข้าวโพดซึ่งใช้น้ำน้อยกว่าในปัจจุบัน
•การจัดการน้ำภายในองค์กรและชุมชน ณ ชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี คืออีกตัวอย่างการจัดการน้ำชุมชนที่มีประสิทธิภาพแม้ยามภัยแล้ง
•ชุมชนภายใต้โครงการ “รักน้ำ” ของกลุ่มโคคา-โคลา ในพื้นที่รังสิตวันนี้ ประสบความสำเร็จในการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ร่องสวน 22,632 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 6,473 ครัวเรือน 21,734 คน พื้นที่การเกษตร 52,000 ไร่
•นับเป็นผลลัพธ์จากกรอบ 3R: Reduce Recycle และ Replenish ในการจัดการน้ำทั้งภายในและภายนอกองค์กรโดยร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ
เกษม กล่ำทรัพย์ ชาวบ้านตำบลหนองเสือชี้ให้ดูการปลูกพืชผสมผสานที่ใช้น้ำน้อยลง และเพื่อจำหน่ายยามหน้าแล้ง
สวนปาล์มในชุมชนบึงชำอ้อที่ปลูกเรียงแถวแบบสลับฟันปลา รากของต้นปาล์มช่วยยึดและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ช่วยป้องกันไม่ให้ตะกอนดินขัดขวางทางน้ำในร่องสวน
เตยหอม พืชสมุนไพรที่ชาวบ้านบึงชำอ้อปลูกเสริมบริเวณสวนปาล์ม เพื่อเป็นอาชีพเสริมและช่วยพยุงดินริมร่องน้ำ
ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันพื้นที่รังสิตคลอง 7 - 14 ในตำบลบึงชำอ้อ ตำบลบึงบอน ตำบลบึงกาสาม ตำบลนพรัตน์ ตำบลบึงบา และตำบลหนองสามวัง ประสบความสำเร็จในการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ร่องสวน 22,632 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 6,473 ครัวเรือน 21,734 คน พื้นที่การเกษตร 52,000 ไร่
เกษตรกรสามารถปรับตัวเพื่อรอดพ้นจากผลกระทบภัยแล้งด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลส่วนท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงผลกำไร เอกชน และชุมชน ที่นี่จึงเป็นโมเดลตัวอย่างให้ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ที่ผสานความร่วมมือได้เรียนรู้การรับมืออย่างมีประสิทธิผลที่ยั่งยืน
“สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ยังคงสร้างผลกระทบให้กับภาคการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ชุมชนในพื้นที่รังสิตกลับสามารถเดินหน้าประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ โดยมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จากความร่วมมือของเกษตรกรที่ปรับการทำนามาเป็นเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ เห็นได้ชัดว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวคิดที่ทำได้ง่าย และชุมชนสามารถเริ่มต้นได้ทันที แต่ให้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรงในระยะยาว จึงอยากให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนอื่นๆ มองตัวอย่างการทำงานในรูปแบบนี้ ซึ่งหากชุมชนทั่วประเทศมีการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตน ก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในระดับประเทศได้"
บุญรุ่งโรจน์ น้อยสว่าง ชาวบ้านบึงชำอ้อกับต้นข้าวโพด
ธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนบึงชำอ้อ ซึ่งตั้งอยู่ที่รังสิตคลอง 8 ใช้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ มีโรงงานไทยน้ำทิพย์ ตั้งอยู่ที่รังสิตคลอง 13 ร่วมดำเนินการโดยความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ
ภายในองค์กรของเรา ใช้กรอบการทำงาน 3 R’s คือ Reduce ลดปริมาณการใช้น้ำในโรงงานและการผลิตให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2553 Recycle บำบัดน้ำจากกระบวนการผลิตจนได้น้ำสะอาดในระดับที่สัตว์น้ำสามารถอาศัยอยู่ได้ และนำน้ำส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงานนอกเหนือจากการผลิตเครื่องดื่ม และ Replenish คืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ภายในปี 2563 ซึ่งภายในองค์กรนั้น โรงงานไทยน้ำทิพย์และหาดทิพย์ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”
โดยแหล่งน้ำที่กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาฯ ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ได้มาจาก 3 ส่วนคือ น้ำใต้ดินซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด 44% โดยเป็นน้ำระดับลึก 100 - 200 เมตรที่ลึกกว่าแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รองลงมา คือน้ำประปา ประมาณ 35% และน้ำผิวดิน อีก 21% นอกจากนี้ น้ำที่บำบัดแล้วจะถูกคืนกลับสู่แหล่งน้ำผิวดิน ลดผลกระทบต่อกิจกรรมของเกษตรกรและชุมชน
สำหรับการคืนน้ำกลับสู่ชุมชนและธรรมชาติอย่างปลอดภัย หรือ Replenish นั้น เราได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ เข้าไปสนับสนุนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ใช้น้ำในการผลิตเครื่องดื่ม รวม 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด โดยการแก้ปัญหาน้ำที่แตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ริเริ่มโครงการ “รักน้ำ” มาตั้งแต่ปี 2550 สามารถคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติเกินกว่าปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มได้แล้ว และเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2563
ธงชัย กล่าวว่า“มูลนิธิโคคา-โคลาฯ จะเดินหน้าให้การสนับสนุนพื้นที่รังสิตและพื้นที่อื่นๆ ภายใต้โครงการ “รักน้ำ” อย่างต่อเนื่อง แม้เราจะสามารถคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มได้แล้ว และประชาชนทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ เพื่อสร้างต้นแบบและองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนที่ชาวบ้านสามารถดำเนินการต่อได้เอง และเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ เริ่มดำเนินรอยตาม”
“โดยช่วงฤดูแล้วปีนี้ โรงงานรังสิตของไทยน้ำทิพย์ ยังได้ริเริ่มโครงการปันน้ำให้กับชุมชนใกล้เคียง เพื่อช่วยบรรเทาความลำบากในช่วงภัยแล้ง โดยนำน้ำประปาที่โรงงานผลิตเองจากแหล่งน้ำผิวดินมาสำรองไว้ในถังน้ำประปาหน้าโรงงาน เปิดให้ประชาชนในพื้นที่นำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 6,000 ลิตรต่อวัน อีกด้วย”
บ่อพักน้ำภายในโรงงานไทยน้ำทิพย์ คลอง 13 ที่ใช้พักน้ำจากแหล่งต่างๆ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิต
ธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กับถังน้ำประปาหน้าโรงงานที่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่นำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค  6,000 ลิตรต่อวัน
โครงการ “รักน้ำ” ในพื้นที่รังสิต
ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย จำนวน 7.7 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 โดยชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ “รักน้ำ” และด้วยองค์ความรู้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน เมื่อเกิดภัยแล้ง ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักคือ ทำนา ก็หยุดทำนาชั่วคราวและปรับมาปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยแต่ยังสามารถสร้างรายได้ อาทิ ข้าวโพด ปาล์ม กล้วย พริก มะนาว ตะไคร้ ร่วมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ อาทิ การทำสระแก้มลิงและบ่อดินเพื่อเก็บกักน้ำ ซ่อมแซมบ่อและบานประตูพักน้ำ ซื้อเรือดูดเลนป้องกันคลองและแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างคลองหลัก คลองซอย และร่องสวน เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำในระบบได้ทั้งหมด 29,000 ล้านลิตร สามารถกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ร่องสวน 22,632 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 6,473 ครัวเรือน 21,734 คน พื้นที่การเกษตร 52,000 ไร่

มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดย บริษัทโคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการเพื่อชุมชนมากมาย โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีความยั่งยืน โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ การศึกษาและพัฒนาเยาวชน การปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดจนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งด้วยทุนทรัพย์พระราชทานจำนวน 84ล้านบาทจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.2555 ทำหน้าที่บริหารและจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่ทำงานด้านน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปในทิศทางเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวิจัยด้านน้ำ รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
กำลังโหลดความคิดเห็น