ทั้งที่ "น้ำ" เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทว่าปัญหา "น้ำแล้ง-น้ำท่วม" ยังคงไม่เคยหายไปจากประเทศไทยครั้นจะรอให้ส่วนกลางเข้ามาช่วยโดยตรงคงไม่ทันการ จังหวัดพี่ใหญ่อย่าง "อุบลราชธานี" จึงนำร่องจับมือ 4 หน่วยงาน ยกยอดงานวิจัยมาบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาน้ำของตัวเองอย่างยั่งยืน
ในงานมหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2559 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 3-5 มี.ค.58 ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ช่วงหนึ่งมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง "การบริหารจัดการน้ำของ จ.อุบลราชธานี" ที่ได้ผู้ร่วมเสวนาเป็นนักวิชาการและข้าราชการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (อบจ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้ร่วมดำเนินโครงการที่ร่วมกันถอดความคิดไว้อย่างออกรสออกชาติ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนแก่ผู้สนใจ
นางจงจิตต์ ทองคำผุย ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (อบจ.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำมีความสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาน้ำแล้งเนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ราบสูง อบจ.จึงยึดหลักการทำงานแบบ "แก้แล้ง แก้เจ็บ แก้จน" โดยใช้หลักการ "รวมน้ำให้ได้" โดยการสร้างแหล่งน้ำและป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์ กับ "กระจายน้ำให้เป็น" ด้วยการทำชลประทานระบบท่อ โดยพยายามให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อให้องค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและท่อเพื่อให้ชาวบ้านนำไปจัดการในชุมชนเอง แต่กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปปัญหาก็ยังคงเกิดซ้ำ เพราะชาวบ้านตกลงบริหารจัดการเองไม่ได้ อบจ.จึงต้องคิดหาวิธีใหม่เพื่อหาวิธีจัดการน้ำที่ยั่งยืน ภายใต้วัตถุประสงค์ให้ชุมชนรู้จักการจัดการน้ำด้วยงานวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและสร้างชุมชนเข้มแข็ง
นางมัสยา คำแหง ผู้แทนจากฝ่ายวิชาการเพื่อพัฒนาพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สกว.มีหน้าที่สนับสนุนการวิจัย ประกอบกับได้ดูแลโครงการจัดการน้ำของ จ.อุบลราชธานีต่อเนื่องมากว่า 15 ปี ซึ่งจนถึงขณะนี้มีมากกว่า 70 โครงการ ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ, การเกษตร, สังคมวัฒนธรรมและศิลปะ จึงเข้ามาเป็นสื่อกลางพร้อมชักชวนเพื่อนบ้านทางวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในการช่วย อบจ.จัดการวางแผนจัดการน้ำด้วยงานวิจัยตามบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละองค์กร พร้อมด้วยงบประมาณสนับสนุนตามนโยบายองค์กร
เมื่อได้คณะทำงานจากทั้ง 4 ฝ่าย ดร.วรงค์ นัยพินิจ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า ขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการเลือกนักวิชาการที่มีความสามารถเหมาะสมกับพื้นที่ ว่าใครควรเข้าไปช่วยจัดการปัญหาอะไร โดยในแต่ละทีมจะต้องมีคณะทำงานที่เป็นคนจากทั้ง 4 ฝ่าย และยังจัดให้มีการประกวดระบบชลประทานแก้ปัญหาที่ดีที่สุด 4 พื้นที่เพื่อต่อยอดนำร่องและใช้เป็นโมเดลให้กับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ
สำหรับโครงการในเฟสแรก ดร.วรงค์ ได้ยกตัวอย่างพื้นที่บ้านบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ ที่มีประชากรประมาณ 160 ครัวเรือนว่า แต่ก่อนพื้นที่นี้ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้มีความต้องการแหล่งน้ำเพิ่ม แต่เมื่อทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจกลับพบว่าปัญหาน้ำไม่ได้ขาดแคลนแต่เป็นเพราะการจัดสรรน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ พื้นที่ต้นน้ำไม่เคารพกติกา เปิดน้ำเกินเวลาทำให้น้ำไปไม่ถึงพื้นที่ท้ายน้ำ ด้วยปัญหาดังกล่าวนักวิจัยโครงการจึงเร่งเข้าไปแก้ปัญหาคนก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดการบนิหารจีดการน้ำอย่างเหมาะสม และใช้กิจกรรมเสริมความเข้าใจหลายอย่าง อาทิ เกมส์บทบาทสมมุติให้ชาวบ้านเข้าใจหลักการปันน้ำเพื่อลดความเห็นแก่ตัว วิเคราะห์แนวโน้มการใช้น้ำ การแบ่งปัน จากนั้นจึงให้องค์ความรู้ และกำหนดกติกาการใช้น้ำขึ้นใหม่ พร้อมวางระบบชลประทานท่อใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิกทุกคน
ส่วนอีกโครงการ นางมัสยา ได้ยกตัวอย่างพื้นที่บ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร ที่เป็นพื้นที่สูงลาดเชิงเขา ซึ่งในหน้าน้ำปกติจะสูบน้ำใช้จากแม่น้ำโขงด้านทิศเหนือ แต่ในหน้าแล้งจะประสบปัญหาเพราะพื้นที่สูงกว่า 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลทำให้เครื่องสูบน้ำกำลังไม่ถึงซึ่งปัญหานี้จะรุนแรงสุดในช่วงเดือน ก.พ.ถึง เม.ย.ทว่าจะขุดน้ำบาดาลก็ทำไม่ได้เพราะพื้นด้านล่างเป็นชั้นหินแข็ง แนวทางการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาจึงมุ่งไปที่วิธีการนำน้ำมาใช้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรม "แอร์แว" ที่เป็นการเพิ่มแรงดันน้ำด้วยหลักการแคปิลารีเพื่อนำน้ำจากที่ต่ำในบุ่งพระละคอนมาใช้ และการปล่อยน้ำจากฝายวังอีแร้งซึ่งอยู่ที่สูงโดย "ระบบกาลักน้ำ" แล้วจึงใช้แอร์แวช่วยเพิ่มแรงดัน
อย่างไรก็ดี นางจงจิตต์ เผยว่า กว่าแต่ละโครงการจะสำเร็จหรือเป็นรูปเป็นร่างได้ค่อนข้างหืดขึ้นคอ เพราะ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำ แต่ยังเกี่ยวข้องกับพื้นที่ สังคมและข้อกฎหมาย ซึ่งทำให้การทำงานยากและล่าช้าลงกว่าที่ควร เพราะต้องใช้เวลาที่ควรดำเนินการไปกับการทบทวนข้อกฎหมายและหารือกับสภาชุมชนจึงจะจัดการปัญหาระหว่างทางได้ เช่น กรณีพื้นที่การเกษตรผืนหนึ่ง ที่ที่ดินคร่อมอยู่ระหว่างจ.อุบลราชธานี และจ.ยโสธร โดยเจ้าของพื้นที่เป็นคนจ.อุบลราชธานี ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานวิจัยนอกเหนือจังหวัดได้ และเหตุที่ทำให้โครงการดำเนินไปได้อย่างช้าๆ เป็นเพราะงานวิจัยทั้งหมดเป็นภาระเพิ่มเติมจากงานประจำ ทำให้บุคลากรมีเวลาทุ่มเทไม่มากและขาดกำลังใจทำงาน
ทั้งนี้ ดร.เด่นดวงดี ศรีสุข ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ดำเนินการเสวนาได้สรุปว่า แม้การดำเนินงานจะมีอุปสรรคและเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็ประสงความสำเร็จ เพราะรอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำแลบยั่งยืนได้แล้วในบางพื้นที่ ยังทำให้นักวิจัยได้ความรู้จากชุมชน ได้ความรู้มาต่อยอดการสอน ไปจนถึงการเขียนผลงานวิจัยทางสังคมเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ มากไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐและประชาชนเพื่อแสดงออกให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการแรกทำให้ขณะนี้มีการเริ่มโครงการในระยะที่สองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะแถลงผลงานได้อีกภายในเร็ววัน ซึ่งอาจจะทำให้ จ.อุบลราชธานีกลายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านจัดการน้ำด้วยงานวิจัยให้กับประเทศได้ในอนาคต