สมาคมดาราศาสตร์ไทยจับมือท้องฟ้าจำลอง ระดมกล้องโทรทรรศน์นับสิบตั้งชุมนุมครั้งใหญ่รับ "สุริยุปราคาบางส่วน" พ่วงปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงกัน 5 ดวงตั้งแต่ช่วงตีสี่ 9 มี.ค. ที่สนามข้างสมาคมฯ ชูไฮไลท์ "แว่นสุริยะยักษ์" รณรงค์ประชาชนสังเกตสุริยุปราคาถูกวิธี ฟากท้องฟ้าจำลองก็ใจดีจัดเสริม "หนังสุริยุปราคาชุดใหม่" เบิ้ลรอบเย็น 8 มี.ค.
นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญ ที่คนบนโลกสามารถเห็นได้ชัดเจน ซึ่งการเกิดในครั้งนี้คนที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเห็นได้โดยทั่ว ในลักษณะสุริยุปราคาบางส่วน ตั้งแต่ช่วงเวลา 6.30-8.30 น. โดยประมาณ เพื่อให้บริการประชาชนและส่งเสริมความตระหนักต่อวิทยาศาสตร์ สมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) ในการจัดกิจกรรมสังเกตสุริยุปราคา ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 มี.ค. บริเวณสนามฟุตซอลด้านข้างท้องฟ้าจำลอง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่นานทีจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งด้วยตาตัวเอง
น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 9 มี.ค. ตั้งแต่เวลา 4.00 น. สมาคมดาราศาสตร์ไทยและท้องฟ้าจำลองกรุงเทพจะนำกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงหลากหลายรุ่น ประมาณ 10 ตัวมาติดตั้งให้ประชาชนได้ใช้บริการ พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยบรรยายให้ความรู้และอำนวยความสะดวก โดยตั้งแต่ 5.00 น.เป็นต้นไป วิทยากรจะเริ่มอุ่นเครื่องด้วยการส่องกล้องโทรทรรศน์ไปยังทิศตะวันออก เพื่อดูดาวเคราะห์ 5 ดวง ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ ที่จะมาปรากฏบนฟ้าในแนวเดียวกัน จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงเตรียมสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ที่จะเกิดการแตะคราสในเวลาประมาณ 6.39 น. บังเต็มที่เวลา 07.33 น. และสิ้นสุดในเวลาประมาณ 8.32 น.
นอกจากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ยังเผยว่า ทางสมาคมฯ จะฉายภาพสดจากกล้องโทรทรรศน์ขึ้นสู่จอยักษ์เพื่อให้ประชาชนได้ชม ปรากฏการณ์แบบต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้จัดเตรียม "แว่นสุริยะ" ที่ผลิตขึ้นจากฟิล์มชนิดพิเศษให้ประชาชนได้ยืมใช้สำหรับการส่องดูสุริยุปราคาด้วย เพราะการสังเกตสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าหรือสังเกตผ่านวัสดุที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาจนถึงขั้นตาบอดได้
นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวเน้นย้ำถึงความปลอดภัยในการสังเกตสุริยุปราคาเพิ่มเติมว่า การดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าไม่ว่าในกรณีปกติหรือพิเศษเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะแสงอาทิตย์ที่สว่างเจิดจ้าส่งผลต่อดวงตาโดยตรง และที่สำคัญกล้องโทรทรรศน์ที่จะใช้สำหรับสังเกตสุริยุราคาจะต้องเป็นกล้องที่ใส่แผ่นกรองแสงปิดหน้ากล้องสำหรับการส่องดวงอาทิตย์แล้วเท่านั้น ส่วนวัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัย เช่น ฟิล์มเอกซเรย์, แว่นกันแดด, กระดาษแก้ว, ฟิล์มถ่ายรูป หรือแม้แต่กระจกรมควันที่นิยมใช้กันในอดีตก็ไม่ควรนำมาใช้ เพราะแม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงย่านแสงขาว แต่ไม่สามารถกรองรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ที่มีพลังงานสูงได้
ด้านนางตติยา ใจบุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวว่านอกจากช่วงเช้ามืดวันที่ 9 มี.ค. ท้องฟ้าจำลองจะนำกล้องโทรทรรศน์และวิทยากรไปร่วมจัดกิจกรรมกับสมาคมดาราศาสตร์แล้ว ในวันก่อนหน้า วันที่ 8 มี.ค. ท้องฟ้าจำลองจะเปิดรอบการแสดงพิเศษเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาขึ้นจำนวน 2 รอบในเวลา 17.00 น. และ 18.00 น. เพิ่มเติมด้วยจากเดิม จากวันปกติที่มีรอบการแสดงสุดท้ายเวลา 16.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นและขยายโอกาสให้ประชาชนได้เข้าใจกลไกการเกิดสุริยุปราคาที่อาจนำมาต่อยอดสู่ความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 9 มี.ค. โดยซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 16.00 น.
ทั้งนี้การจัดแถลงความพร้อมการจัดกิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 59 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถ.เอกมัย กรุงเทพฯ พร้อมกับการเปิดนิทรรศการ "พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับดาราศาสตร์และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์" นิทรรศการขนาดย่อมโดยสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี