xs
xsm
sm
md
lg

9 มี.ค.เตรียมพร้อมชม “สุริยุปราคาบางส่วน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพสุริยุปราคาบางส่วนปี 2553 ณ เชียงใหม่ โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
วันพุธที่ 9 มี.ค.จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” โดยแนวคราสอยู่ในมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิก ซึ่งบางเกาะของอินโดนีเซียนั้นอยู่ในแนวคราวเต็มดวง ขณะที่ผู้อยู่ในประเทศไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน”

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า สุริยุปราคาในวันที่ 9 มี.ค.นี้ แนวคราสเต็มดวงจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ช่วงต้นแนวคราสจะเคลื่อนผ่านเกาะใหญ่ๆ ของอินโดนีเซีย เช่น เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ซึ่งบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะจะเกิดคราสเต็มดวงนานกว่า 3 นาที ส่วนคราสเต็มดวงนานที่สุดกว่า 4 นาทีเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทร

ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. จัดทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์เดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเข้มของแสง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย

โอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ 9 มี.ค. ซึ่งทีม สดร.ได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์ติดฟิลเตอร์กรองแสงพร้อมอุปกรณ์สังเกตการณ์ถวายพระองค์ด้วย และถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.narit.or.th

สำหรับประเทศไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ช่วงเวลาประมาณ 06.20-08.35 น.ซึ่งทางภาคใต้จะได้เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ ทางตอนเหนือ โดยที่ อ.เบตง จ.ยะลาจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดประมาณ 69% ส่วนกรุงเทพฯ เห็นเว้าแหว่งประมาณ 41% และขึ้นไปทางเชียงใหม่เห็นเว้าแหว่งประมาณ 27%

สุริยุปราคาวันที่ 9 มี.ค.59 เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ในชุดซารอสที่ 130 ซึ่ง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ระบุว่าหากพลาดชมครั้งนี้ต้องรอไปอีก 4 ปีจะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 26 ธ.ค.62 ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงต้องรอไปอีก 54 ปีจึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้เมืองไทยวันที่ 11 เม.ย.2613

“วันที่ 11 เม.ย. 2613 จะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง” ดร.ศรัณย์ระบุถึงความสำคัญของสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้น

สดร.ยังได้เตรียมจุดสังเกตปรากฏการณ์ 5 จุดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร ณ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ 2.เชียงใหม่ ณ ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ 3.ฉะเชิงเทรา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อำเภอแปลงยาว 4.นครราชสีมา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ 5.สงขลา ณ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อำเภอเมือง

จุดสังเกต ณ ลานชมวิวนางเงือก จ.สงขลา จะเป็นจุดสังเกตการณ์ที่จะได้เห็นคราสการบังมากที่สุดใน 5 จุดสังเกตการณ์ที่จัดโดย สดร. และแต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากสดร. คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละจุดตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น.โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับกล้องโทรทรรศน์ สื่อการเรียนรู้ และอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้า จาก สดร. ในปี 2559 ที่ผ่านมา ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 60 พรรษา ร่วมจัดกิจกรรมดูสุริยุปราคาบางส่วนนี้โดยทุกแห่งได้รับอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัยจาก สดร.ด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่www.narit.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจของ สดร. ที่ www.facebook.com/NARITpage

ทางด้านสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ร่วมมือกับท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จัดกิจกรรมรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน โดยวันที่ 8 มี.ค.59 ท้องฟ้าจำลองจะเพิ่มรอบการฉายภาพยนตร์ชุดใหม่เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาอีก 2 รอบ คือรอบเวลา 17.00 น.และ 18.00 น.จากปกติเปิดฉายถึงรอบ 16.00 น.เท่านั้น

ส่วนวันที่ 9 มี.ค.สมาคมดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองเตรียมกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงหลายรุ่นประมาณ 10 ตัวเพื่อบริการประชาชน พร้อมวิทยากรคอยบรรยายให้ความรู้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. โดยเริ่มจากการส่องกล้องโทรทรรศน์ไปยังทิศตะวันออก เพื่อดูดาวเคราะห์ 5 ดวง ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ ที่จะมาปรากฏบนฟ้าในแนวเดียวกัน
ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือเมืองลองเยียร์เบียน นอร์เวย์ เมื่อ 20 มี.ค.2558
แผนที่แสดงการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในแต่ละพื้นที่ของไทย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น