xs
xsm
sm
md
lg

ดู “สุริยุปราคา” ให้ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้องดูดวงอาทิตย์สำหรับสังเกตสุริยุปราคาทางตรง
ในวันที่ 9 มี.ค. จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ส่วนทุกพื้นที่ทั่วไทยจะได้เห็นเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ซึ่ง รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ได้ออกมาเตือนและแนะวิธีสังเกตปรากฏการณ์อย่างปลอดภัย

ในวันที่ 9 มี.ค.59 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง โดยแนวคราสเต็มดวงจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก และเกาะใหญ่บางแหงในอินโดนีเซียจะได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนี้ ขณะที่เมืองไทยทุกพื้นที่จะได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ย้ำว่าความปลอดภัยในการสังเกตสุริยุปราคาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะสำหรับสังเกตเท่านั้น ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าหรือใช้แว่นกันแดดเด็ดขาด เพราะแสงอาทิตย์จะทำลายเซลล์ประสาทตาจนตาบอดถาวรได้

"ห้ามสังเกตการณ์ผ่านกล้องทุกชนิด ทั้งกล้องถ่ายรูป กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ไม่ติดฟิลเตอร์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีเลนส์รวมแสง ยิ่งทวีกำลังของแสงอาทิตย์มากขึ้น นอกจากอันตรายแก่ดวงตาแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสียหายด้วย" ดร.ศรัณย์ย้ำข้อห้ามในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา

วิธีสังเกตสุริยุปราคาอย่างปลอดภัยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ “สังเกตแบบทางตรง” และ “สังเกตแบบทางอ้อม” วิธีสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง ส่วนการสังเกตทางอ้อมนั้นจะใช้ฉากรับแสง เพื่อสังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น

“สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัว เช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็ก ๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน สัดส่วนเท่ากับขนาดของคราสในเวลานั้น เรียกว่าหลักการของ “กล้องรูเข็ม” กระชอนคั้นกะทิที่มีรูเล็กๆ ลำไผ่เจาะรู หรือแม้แต่ร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็กๆ ก็ใช้เป็นจุดสังเกตได้” รอง ผอ.สดร.ระบุ

นอกจากนี้ ดร.ศรันย์กล่าวว่าหากไปร่วมที่จุดสังเกตการณ์ของ สดร. และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศก็จะได้สังเกตเงาคมชัด ฉายผ่านกล้องโทรทรรศน์ และยังมีแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำหรือฟิล์มไมลาร์ ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ ใช้กรองแสงเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้โดยตรง โดย สดร.ได้ผลิต “แว่นตาดูดวงอาทิตย์” กว่าหมื่นชิ้น เพื่อให้ประชาชนใช้สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย ณ จุดสังเกตการณ์ทั่วประเทศ

ข้อมูลและภาพประกอบจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
แว่นดูดวงอาทิตย์สำหรับสังเกตสุริยุปราคาทางตรง
การสังเกตสุริยุปราคาทางอ้อมผ่านเงาใบไม้
ฉากรับภาพดวงอาทิตย์จากเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตสุริยุปราคาทางอ้อม







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น