xs
xsm
sm
md
lg

มาอีกแล้ว “ลูกไฟ” เหนือฟ้าไทย สดร.คาดลูกเล็ก-ไม่อันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 กล้องถ่ายภาพทั่วท้องฟ้า ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา อ.เมือง นครราชสีมา
ปรากฏการณ์ “ลูกไฟ” เหนือฟ้าไทยมาให้เห็นอีกครั้ง สดร.ตรวจสอบภาพถ่ายจากหอดูดาวูมิภาคทั้งที่ฉะเชิงเทราและโคราช เห็นลูกไฟพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปตะวันตก เมื่อเช้าตรู่วันที่ 29 ก.พ. คาดมีขนาดเล็ก ไม่อันตราย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าตามที่ได้รับรายงานว่า มีประชาชนพบเห็นลูกไฟตกจากฟ้า ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 29 ก.พ.59 พบเห็นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เช่น รามคำแหง บางแค ตลิ่งชัน และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปทุมธานี รวมถึงนครราชสีมา และฉะเชิงเทรา

จากภาพและคลิปเหตุการณ์ที่ผู้พบเห็นส่งมา และภาพกล้องถ่ายภาพทั่วท้องฟ้า ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา อ.เมือง นครราชสีมา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา บันทึกภาพได้ เมื่อเวลา 04:54 น. เห็นเป็นลูกไฟสว่างสีขาวอมเหลืองพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปตะวันตก มีความสว่างมากกว่าดาวพฤหัสบดี และดาวเคราะห์อื่นๆ

ทีมเจ้าหน้าที่ สดร. ได้ศึกษาข้อมูลและคำนวณจากภาพถ่ายจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งสองแห่ง สรุปผลเบื้องต้นว่า 1.วัตถุนี้เคลื่อนที่สูงจากพื้นโลกไม่น้อยกว่า 70 กิโลเมตร 2.มีความเร็วมากกว่า 70,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วปกติของดาวเคราะห์น้อยเมื่อเข้าสู่บรรยากาศโลก มีความเร็วมากกว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำที่อาจเข้าสู่บรรยากาศโลกและเกิดการเผาไหม้ และ 3. มีทิศทางการเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก สวนทางกับการเคลื่อนที่ของดาวเทียมต่างๆ จึงสันนิษฐานว่าเป็น “วัตถุขนาดเล็กจากนอกโลก

“อาจเป็นสะเก็ดดาว หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลก เกิดเป็นลูกไฟ (Fireball) สว่างวาบเป็นเวลามากกว่า 20 วินาที ลูกไฟขนาดเล็กในลักษณะเช่นนี้เข้ามาในบรรยากาศโลกค่อนข้างบ่อย ปีหนึ่งนับพันครั้ง ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ลูกไฟขนาดใหญ่ที่เข้ามาในบรรยากาศโลกในวันที่ 7 กันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นน่าตื่นเต้นแต่ไม่ต้องตกใจ ถือเรื่องปกติทางดาราศาสตร์ที่ไม่มีอันตรายและผลกระทบใดๆ ต่อโลกและมนุษย์ สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์” ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย
 กล้องถ่ายภาพทั่วท้องฟ้า ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา อ.เมือง นครราชสีมา







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น