xs
xsm
sm
md
lg

เผยหลักฐานลูกไฟเหนือเมืองกาญฯ ระเบิดเทียบเท่าทีเอ็นที 3.9 กิโล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพคาดบริเวณอุกกาบาตตกใน อ.ไทรโยค กาญจนบุรี
สดร.เผยหลักฐานล่าสุด ลูกไฟจากขนาด 66 ตัน พุ่งชนบรรยากาศโลกเหนือฟ้าที่กาญจนบุรี เป็นลูกไฟใหญ่สุดในรอบปี คาดมีชิ้นหลงเหลือแต่ยังไม่พบ

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และ นอ.ฐากูร เกิดแก้ว เลขานุการคณะอนุกรรมการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศ กองทัพอากาศ ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 ก.ย.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึงเหตุการณ์ลูกไฟสว่างตกจากฟ้าในช่วงเช้าวันที่ 7 ก.ย.58 ที่ผ่านมา

ลูกไฟดังกล่าวเห็นได้ในกรุงเทพฯ กาญจนบุรี และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจากหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่ประชาชนบันทึกไว้ในแต่ละพื้นที่ สดร. ได้วิเคราะห์และชี้แจงในเบื้องต้นว่าอาจเป็นลูกไฟ (Fireball หรือ Bolide) จากดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีเกิดความร้อนจนลุกไหม้ เห็นเป็นลูกไฟ มีควันขาวเป็นทางยาว เสียงดังคล้ายระเบิด เห็นได้เป็นบริเวณกว้าง

ดร.ศรัณย์ เปิดเผยว่า สดร. ได้รับข้อมูลที่ยืนยันจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว วิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นวัตถุจากนอกโลก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร มวลประมาณ 66 ตัน พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วประมาณ 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความสว่างที่สุดในขณะอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 29.3 กิโลเมตร

พลังงานการชนของวัตถุดังกล่าว ดร.ศรัณย์ระบุว่ามีค่าเทียบเท่าการระเบิดของระเบิดทีเอ็นที 3.9 กิโลตัน หรือ 1 ใน 4 ของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ทิศทางการเคลื่อนที่มุ่งไปทางตะวันตก ที่มุมอะซิมุท 269.8 องศา มุมเอียงของการชนเทียบกับพื้นโลก 45.4 องศา

ส่วนพื้นที่ที่อาจมีอุกกาบาตตกอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี กินพื้นที่เป็นวงกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 กิโลเมตร นับเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่สุดที่พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกในรอบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่ามีการพบอุกกาบาตจากวัตถุดังกล่าว

"สดร.ยังคงจะติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปกติที่อธิบายได้ จากสถิติพบว่ามีอุกกาบาตตกลงมาบนโลกเป็นจำนวนมากแต่ไม่เป็นข่าวเนื่องจากส่วนมากตกในมหาสมุทรหรือบริเวณที่ไม่มีบริเวณที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นแต่ไม่น่าตกใจ กรณีนี้ไม่ต่างจากที่เราเห็นดาวตกตอนกลางคืน เพียงแต่เหตุการณ์นี้เห็นได้ในแหล่งชุมชนและเกิดขึ้นในเวลากลางวันเท่านั้น" รอง.ผอ.สดร.ระบุ
ความรุนแรงในการระเบิดเทียบเท่าทีเอ็นที 3.9 กิโล
แผนภาพแสดงเหตุการณ์อุกกาบาตตกทั่วโลกตั้งแต่ปี 1994-2013
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา และ นอ.ฐากูร เกิดแก้ว









กำลังโหลดความคิดเห็น