xs
xsm
sm
md
lg

สะกดรอยตามหา “อุกกาบาต” เหนือเมืองกาญจน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทีมนักดาราศาสตร์ศึกษาแผนที่และทิศทางเป็นไปได้ที่อุกกาบาตจะตก
หลังจากอุกกาบาตลูกใหญ่ที่รัสเซียเมื่อกว่า 2 ปีก่อน ก็ยังไม่มีเหตุการณ์อุกกาบาตตกครั้งไหนที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนจำนวนมากเท่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหนือฟ้าเมืองกาญจน์ ถ้าโชคดีชิ้นส่วนแปลกปลอมจากนอกโลกอาจหลงเหลือและตกสู่พื้นโลก แต่การตามหาจุดตกของอุกกาบาตที่อาจหลงเหลือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ผมว่าอีกหลายปีกว่าจะเจอ ลองคิดดูว่าอุกกาบาตลูกเท่านี้ (นิ้วโป้ง) หล่นตรงพงหญ้าข้างหน้าจะหายังไงเจอ” ดร.วิภู รุจิโรปการ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นระหว่างการออกเดินทางของ นอ.ฐากูร เกิดแก้ว เลขานุการคณะอนุกรรมการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศ กองทัพอากาศ เพื่อแกะรอยตามหาจุดตกของอุกกาบาตใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

อุกกาบาตดังกล่าวพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกเมื่อวันที่ 7 ก.ย.58 ซึ่งจากข้อมูลของดาวเทียมสหรัฐฯ ที่ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสรัฐฯ (นาซา) ได้ส่งมาให้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยตำแหน่งที่อุกกาบาตสว่างวาบมากที่สุดบริเวณบ้านมะตั้งสู้(ทุ่งก้างย่าง) อ.ไทรโยค ที่ความสูงประมาณ 30 กิโลเมตร และมีทิศทางพุ่งต่อไปทางทิศตะวันตก โดยวัตถุที่พุ่งเข้ามาเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร มีมวลประมาณ 66 กิโลกรัม

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.คาดการณ์ว่า อุกกาบาตครั้งนี้จะเป็นอุกกาบาตหินหรือคอนไดรต์ (chondrite) เนื่องจากเป็นประเภทอุกกาบาตที่พบได้มากกว่า 80% ส่วนอีก 2 ประเภทที่เหลือคืออุกกาบาตหินผสมเหล็ก และอุกกาบาตเหล็ก และอุกกาบาตส่วนมากจะถูกดูดได้ด้วยแม่เหล็ก เนื่องจากส่วนใหญ่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้ อุกกาบาตต้องไม่มีรูพรุน เพราะรูพรุนแสดงว่ามีอากาศ แต่ดาวเคราะห์น้อยไม่มีอากาศ 2.ลักษณะผิวด้านนอกเป็นสีดำจากการเผาไหม้ แต่เมื่อแตกออกมาไม่เป็นสีดำ 3.มีรอยแตกจากการความร้อนจัดแล้วหดตัว

“อุกกาบาตลูกนี้มีความพิเศษเพราะมีคนเห็นมาก และไม่ใช่วัตถุชิ้นเล็ก ซึ่งวัตถุมวลขนาดนี้มีโอกาสตกในไทยน้อย นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์จำนวนมาก มีดาวเทียมที่จับทิศทางได้ นำไปสู่การคำนวณและเป็นข้อมูลในการศึกษาอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลก นับจากเหตุการณ์ที่รัสเซีย (15 ก.พ.56) ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ใหญ่สุดที่มองเห็นได้ ก่อนหน้านั้นมีขนาดใหญ่แต่จับภาพได้ด้วยดาวเทียม” ดร.ศรัณย์ระบุ

การค้นหาอุกกาบาตที่อาจหลงเหลือจากการเผาไหม้และตกสู่พื้นโลกนั้น ดร.ศรัณย์กล่าวว่ายังไม่อาจค้นพบได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีพื้นที่ในการค้นหาที่กว้างมาก จึงต้องพยายามวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อให้ได้บริเวณที่มีโอกาสพบอุกกาบาตตกมากที่สุด โดย สดร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อนำข้อมูลภาพถ่ายที่ประชาชนบันทึกได้มาตรวจสอบทิศทางการตก ด้วยการบันทึกภาพท้องฟ้าตอนกลางคืนในบริเวณที่มีพยานบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ เพื่อใช้ตำแหน่งดาวค้นหาทิศทางของอุกกาบาต

ขณะที่ นอ.ฐากูรได้ลงพื้นที่สืบพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์และบันทึกภาพไว้ได้เพื่อตีวงสำหรับค้นหาอุกกาบาตที่อาจตกสู่พื้นโลกหลายครั้ง รวมทั้งสำรวจพื้นที่ก่อนเข้าทำการค้นหาเมื่อทราบตำแหน่งตกที่ชัดเจน และเมื่อเร็วๆ นี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมติดตามลงพื้นที่ด้วย ซึ่งเริ่มสืบจากภาพถ่ายและคลิปที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ข้อมูลจากนาซา และข้อมูลของนักบินการบินไทยที่พบแสงสว่างวาบทางฝั่งซ้ายของหน้าต่างเครื่องบินระหว่างนำเครื่องมุ่งหน้าจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังพม่า บ่งชี้ว่าวัตถุจากนอกโลกพุ่งไปทาง อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

นอกจากนี้เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนของสาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยังพบแรงสั่นสะเทือนบนพื้นผิว 2 ครั้งจากทางบริเวณห้วยแม่น้ำน้อยลำน้ำสาขาของแม่น้ำแควน้อย ซึ่งทีมสำรวจคาดน่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนจากเคลื่อนที่ของอุกกาบาตที่เร็วกว่าเสียงอัดกระแทกพื้นจนเกิดแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว และยังทำให้เกิดเสียงดังสะเทือน 2 ครั้งที่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงได้ยิน ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้มากๆ ได้ยินเสียงสะเทือนหลายครั้ง โดยคาดว่าน่าจะเป็นเสียงสะท้อน

นอ.ฐากูรอธิบายว่าข้อมูลจากนาซาระบุว่า อุกกาบาตระเบิดที่ความสูง 30 กิโลเมตร โดยทำมุม 45 องศา ดังนั้นระยะทางที่อุกกาบาตพุ่งไปจึงไม่น่าเกิน 30 กิโลเมตรจากจุดระเบิดบริเวณบ้านทุ่งก้างย่าง ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย โดยหลักฐานจากนาซาระบุว่า อุกกาบาตน่าจะพุ่งต่อไปทางทิศตะวันตก แต่หลักฐานจากชาวบ้านที่บันทึกภาพไอพ่นอุกกาบาตหรือคอนเทรล (contrail) พบว่าพุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งยังต้องสำรวจและตรวจสอบพยานเพิ่มเติม

สำหรับอุกกาบาตลูกนี้ นอ.ฐากูรกล่าวว่ามีราคาไม่สูงมาก โดยมีราคาใกล้เคียงกับพลอย แต่มีคุณค่าต่อการศึกษาในแง่เป็นอุกกาบาตที่ตกในประเทศไทย และเป็นที่น่าเสียว่าก่อนหน้านี้เคยมีอุกกาบาตตกในเมืองไทย แต่ผู้พบตั้งราคาไว้สูงเกินไปจนภาครัฐไม่สามารถซื้อไว้ได้ ทั้งๆ ที่ตัวอย่างอุกกาบาตคล้ายกันนี้สามารถสั่งซื้อจากต่างประเทศได้ในราคาไม่แพง
เหนือบริเวณเขามะตั้งสู้บริเวณบ้านก้างย่างขึ้นไป 30 กิโลเมตร เป็นตำแหน่งที่ดาวเทียมสหรัฐฯ ระบุว่า พบแสงสว่างวาบของวัตถุจากนอกโลกพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ
เหนือบริเวณเขามะตั้งสู้บริเวณบ้านก้างย่างขึ้นไป 30 กิโลเมตร เป็นตำแหน่งที่ดาวเทียมสหรัฐฯ ระบุว่า พบแสงสว่างวาบของวัตถุจากนอกโลกพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ
ตัวอย่างอุกกาบาตที่ตกในเชียง จ.เลย เมื่อปี 2519 เป็นอุกกาบาตหิน ถูกแม่เหล็ก (ก้อนกลม) ดูได้ ผิวภายนอกเป็นสีดำเนื่องจากการเผาไหม้ ไม่ปรากฏลักษณะฟองอากาศเหมือนหินที่พบบนโลก
นอ.ฐากูร (ซ้าย) และ ดร.ศรัณย์ (ขวา) ศึกษาแผนทีเพื่อหาทิศทางของอุกกาบาต โดยเปรียบเทียบตำแหน่งจากภาพของ น.ส.มณฑ์ธิศาร์ รัตนคามณีย์ (ด้านหน้า) ชาวบ้านไทรโยคใหญ่ บันทึกได้ตรงบริเวณในภาพ
น.ส.มณฑ์ธิศาร์ รัตนคามณีย์ (ด้านหน้า) ชาวบ้านไทรโยคใหญ่ บันทึกภาพคอนเทรลอุกกาบาต บริเวณข้างต้นไม้ด้านหลัง ซึ่งมีดวงจันทร์ปรากฏในภาพ ช่วยให้นักดาราศาสตร์ระบุตำแหน่งของทิศทางที่ดาวหางพุ่งไปได้ชัดเจนขึ้น
นอ.ฐากูร สอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณจุดที่มีรายงานพบแรงสั่นสะเทือนบนพื้นผิวและอยู่เกือบสุดท้ายที่คาดว่าจะมีอุกกาบาตตก
แม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่คาดว่าอุกกาบาตอาจจะพุ่งข้ามไป
ชาวบ้านในบริเวณแม่น้ำน้อยชี้จุดที่พบคอนเทรลอุกกาบาตพุ่งผ่านศรีษะไป
นอ.ฐากูรนำคณะล่องเรือไปตามแม่น้ำน้อยเพื่อสำรวจเส้นทางที่จะเข้าสำรวจจุดตกของอุกกาบาตตามชุดข้อมูลที่มี
บริเวณที่คาดว่าจะเป็นบริเวณที่มีอุกกาบาตตก









กำลังโหลดความคิดเห็น