xs
xsm
sm
md
lg

ซีเกทจับมือ สจล.พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผลิต "ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีเกทจับมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติในคลีนรูมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์สำเร็จ ตอบโจทย์วงการไอทีไทยให้พัฒนาไปอีกขั้น

บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูล (College of Data Storage Innovation : DSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประสบความสำเร็จในการจัดทำโครงการสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ(Automatic Intelligent Vehicle: AIV) สำหรับเคลื่อนวัสดุบนสายการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในห้องคลีนรูมโดยไม่ต้องใช้คนขับ

น.ส. ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือ AIV Robots ที่บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ทุนสนับสนุนแก่อาจารย์และนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูลหรือ DSTAR ของสจล.ทำวิจัยได้ดำเนินการจนพัฒนารถ AIV Robots สำหรับใช้งานได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยAIV Robots ที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัย จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากหุ่นยนต์ต้นแบบนี้มีการใช้ระบบผสมผสานตัวตรวจจับแบบอาร์เอฟไอดี และตัวตรวจจับทั่วไป ได้แก่ เครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ (laser range finder), อัลตราโซนิค (ultra sonic), IR, ไจโร (Gyro) และเข็มทิศ (Compass) เพื่อให้เกิดการบอกตำแหน่งที่รวดเร็วและแม่นยำ โดยใช้ระบบควบคุมแบบกระจายศูนย์ (decentralized system) ซึ่งทำงานได้รวดเร็วและมีระบบรวมศูนย์ (centralized system) ซึ่งใช้วางแผนการทำงานทั้งหมดของหุ่นยนต์ ที่จะทำให้ไลน์การผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากยิ่งขึ้น

ด้าน รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบ AIV คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ให้ข้อมูลว่า ทั้งสจล.และซีเกทได้ร่วมมือกันดำเนินงานวิจัยอย่างบูรณาการจนได้ผลงานต้นแบบระดับภาคสนาม ที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย SOP39 (Seagate’s Standard Operating Procedures 39)

ในเบื้องต้นโครงสร้างของต้นแบบหุ่นยนต์ซึ่งทำจากโลหะและสแตนเลสนั้นสอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานของห้องคลีนรูม class 100 ซึ่งเป็นห้องที่มีอนุภาคขนาด 0.5 ไมครอนหรือใหญ่กว่าไม่เกิน 100 อนุภาคต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์ฟุต นอกจากนี้ ชุดขับเคลื่อนและความแม่นยำในการเคลื่อนที่ได้ถูกออกแบบให้รองรับงาน
ขนถ่ายอุปกรณ์และวัสดุของบริษัทฯ ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ครบถ้วน

เช่นเดียวกับ นายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ร่วมวิจัยและพัฒนาโครงการนี้ เผยว่า จากผลงานวิจัยต้นแบบเบื้องต้นทำให้ทางซีเกทสามารถวางแผนกระบวนการผลิต ซึ่งหุ่นยนต์ AIV นี้จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตให้กับบริษัทได้ โดยในอนาคตอันใกล้จะร่วมกับ สจล. ดำเนินงานวิจัยต้นแบบในระดับอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ซีเกทยังได้วางแผนงานวิจัยร่วมกับทาง สจล. อีกหลายโครงการ เช่น ระบบอัดประจุไฟฟ้าไร้สายเพื่อให้หุ่นยนต์ใช้การอัดประจุขณะทำงานซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ (Logistics) และโครงการหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน (Cooperative AIVs) เป็นต้น จากผลงานของโครงการที่ต้นแบบอัตโนมัติทำงานที่ตรงตามเป้าหมายจึงคาดว่าจะสามารถทดสอบระบบได้เป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค.58










กำลังโหลดความคิดเห็น