xs
xsm
sm
md
lg

16-17 มี.ค.ประชุมและโชว์นวัตกรรมชิ้นส่วนระบบรางฝีมือคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงวิทย์ฯ โดย สวทช. ผนึกกำลัง วช. รฟท. แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รฟม.สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย และสถาบันวิจัยรางฯ ของญี่ปุ่น จัดงานโชว์นวัตกรรมระบบรางที่พัฒนาโดยคนไทยมีมาตรฐาน หวังใช้เสริมเมกะโปรเจกต์ ระหว่างวันที่ 16-17 มี.ค. ณ แอร์พอร์ตลิงค์ สถานีมักกะสัน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) และ Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแถลงข่าวการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ระหว่างวันที่ 16-17 มี.ค.59 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้จริง และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนระบบราง รวมทั้งนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาชิ้นส่วนระบบรางในต่างประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนที่ดีในการนำมาประยุกต์และต่อยอดขยายผลในประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการดูดซับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศ และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์แก่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสั่งสมความรู้และเทคโนโลยีจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งทางรางที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศแต่ขาดการถ่ายทอดแก่คนในชาติ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินตราให้แก่ต่างประเทศเป็นอันมาก ทั้งที่ประเทศไทยมีความสามารถพอสมควรในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการเดินรถ ด้านงานโยธา ด้านการซ่อมบำรุง การผลิตชิ้นส่วนประกอบรถไฟและระบบรถไฟ เป็นต้น

“ในการนี้ จึงได้มีการจัดประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศและสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ รวมทั้งการแสดงนิทรรศการนวัตกรรมอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางที่มีมาตรฐานและใช้งานได้จริงซึ่งพัฒนาโดยคนไทย เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยได้รับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมรองรับการลงทุนระบบรางที่ประเทศไทยควรยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นต่อไป” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

สำหรับการพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ และมอบหมายให้ สวทช. โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบประเมินความปลอดภัยและสภาวะการใช้งานได้ของระบบรางด้วยการตรวจวัดการสั่นสะเทือนสำหรับการประยุกต์ใช้งานกับระบบรางในไทย” พัฒนาโดย ดร. รัฐภูมิ ปริชาติปรีชา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้แก่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” (The Second Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE2) "Railway Standard and Thai Railway Parts Manufacturing") จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มี.ค.59 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนร่วมงานฟรีได้ที่ www.thairailtech.or.th หรือโทรศัพท์ 02 644 8150 ต่อ 81839














เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น