xs
xsm
sm
md
lg

สุราษฎร์ฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จัดการป่ายั่งยืน ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนต้นแบบ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิมูลอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บ้านปากซวด ต.พะแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน และคณะกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ นายวิชวุทย์ จินโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธีจำนวนมาก เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระพระราชดำริให้ตั้งขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรอบคิด กรอบงาน มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบผลสำเร็จ เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้ โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน อธิบายผ่านแผนที่ และภาพความเปลี่ยนแปลงให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมแต่ละพื้นที่

โดยชุมชนบ้านปากซวด ตั้งถิ่นฐานเดิมบริเวณเขาตอเต่า ตำบลพระแสง อำเภอบ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี มานานากว่า 200 ปี มีอาชีพทำการเกษตร และเก็บหาของป่าเป็นหลัก ในปี พ.ศ.2523 มีกาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก และก่อสร้างเขื่อนรัชประภา ทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง และชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ต่อมา เริ่มทำเกษตรเชิงเดี่ยวจึงเกิดปัญหากับอุทยานฯ เรื่องที่ดินทำกินทับซ้อนในพื้นที่ป่า ปี พ.ศ.2554-2557 ชุมชน และอุทยานฯ จึงร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ และขอบเขตที่ดินทำกินร่วมกัน ต่อมา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนให้ข้อมูลความรู้ รวมทั้งถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ชุมชน และมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูประถัมภ์ ได้ร่วมกับชุมชนดำเนินการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มสำรวจ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเก็บข้อมูลจัดทำแผนที่ และขยายผลออกไปยังชุมชนใกล้เคียง

ปัจจุบัน ชุมชน และอุทยานฯ ร่วมกันอนุรักษ์ป่า การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 5,000 ไร่ กำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ปลูกเสริมป่าด้วยไม้ท้องถิ่น จนเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เสริมโครงสร้างฝายกักเก็บน้ำ พร้อมขุดสระหนองกก พื้นที่ 9 ไร่ ช่วยชะลอความแรงของน้ำ เป็นแหล่งสำรองน้ำได้ 268,403 ลบ.ม. เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาปัญหาน้ำแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อผลิตน้ำประปา และน้ำดื่ม ปรับเปลี่ยนวิธีการเกษตรทำกินในพื้นที่ของตนเอง ร่วมกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน 28,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เกิดเป็นกลุ่มตัวอย่างปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และกองทุนปาล์ม น้ำมัน กองทุนหมูหลุมและไก่ กองทุนปุ๋ยและกองทุนน้ำดื่ม บริหารจัดการโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน สร้างสวัสดิการ สุขภาพการศึกษา อาชีพ ลดการพึ่งพาหน่วยงานท้องถิ่น มีเงินหมุนเวียน และเงินเก็บภายในชุมชนกว่า 2 ล้านบ้าน นำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน เป็นตัวอย่างความสำเร็จให้ชุมชนอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น