“โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านการจัดการน้ำ และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะประชาชนทางภาคใต้ แถบจังหวัดนครศรีธรรมราช
ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาบรรทัด ในเขตตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นไหลผ่านอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และมีคลองสาขาจากอำเภอหัวไทร ไหลมารวมกันที่บ้านปากแพรก จนกลายเป็นแม่น้ำปากพนัง และไหลลงสู่อ่าวนครศรีธรรมราช มีความยาว 156 ก.ม. มีพื้นที่ครอบคลุม 13 อำเภอของ 3 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,100 ตร.กม. หรือประมาณ 1,937,500 ไร่ โดยสองฝั่งแม่น้ำปากพนังมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าพรุ ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง
แม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางด้านเกษตรกรรม โดยแต่เดิมบริเวณลุ่มน้ำปากพนังเป็นบริเวณที่ราบมีพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีโรงสีข้าวมากถึง 9 โรง ถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ก็ว่าได้ แต่เมื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด ส่วนพื้นที่ใกล้ชายฝั่งชาวบ้านปรับเปลี่ยนจากนาข้าวมาเป็นนากุ้ง ทำให้เกิดน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งกระทบถึงนาข้าว ชาวบ้านทะเลาะขัดแย้งกันเอง ส่วนในพื้นที่ป่าพรุก็มีปัญหาน้ำเปรี้ยว จนพื้นที่บริเวณนี้เกิดปัญหา “4 น้ำ 3 รส” สร้างความเดือดร้อนให้ชาวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนานมาโดยลำดับถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2521 จนเกิดมาเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมี “โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” (มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ”) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เขื่อนปากพนัง” เป็นส่วนสำคัญของโครงการ โดยพระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้หาทางทางพิจารณาแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิขึ้น รวมถึงประตูระบายน้ำอื่นๆ รวมถึงระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำอื่นๆ ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มไม่ให้เข้าไปทำลายพื้นที่เกษตร อีกทั้งยังมีแหล่งเก็บกักน้ำจืดและลำน้ำสาขาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก และยังช่วยบรรเทาเรื่องอุทกภัยได้ในที่สุด ชาวลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียงต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยิ่งนัก
เรื่องราวความเป็นมาของเขื่อนปากพนังและโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ นั้นสามารถเข้าไปชมได้อย่างละเอียดที่ “พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ” ใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ดำเนินโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วยห้องทรงงานส่วนพระองค์ ห้องประชุมและห้องนิทรรศการปากพนังในอดีต
ภายในห้องนิทรรศการจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจผ่านสื่อมัลติมีเดีย โดยมีเรื่องราวความรู้มากมายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จัดแสดงไว้ให้ได้ศึกษากัน ตั้งแต่พาไปย้อนอดีตสู่ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยรุ่งโรจน์ทางด้านเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพื้นที่ภาคใต้ ก่อนที่จะประสบกับสภาพปัญหาน้ำต่างๆ และสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ในโครงการฯ จากนั้นก็จัดแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่มีต่อพื้นที่โครงการฯ และมีการนำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และสุดท้ายเป็นส่วนของการจัดแสดงผลสำเร็จหลังโครงการเสร็จสิ้น และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญในภาคใต้ และบริเวณใกล้ๆกับพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมี "อนุสาวรีย์ปล่องโรงสีข้าวโบราณ" ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าให้ได้ชมกัน ซึ่งปล่องโรงสีข้าวโบราณนี้ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งปากพนังที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของเมืองไทย
นอกจากนั้นหากมีโอกาสได้ล่องเรือชมทิวทัศน์ของแม่น้ำปากพนัง ก็ยังพอมองเห็นปล่องโรงสีข้าวโบราณของจริงให้เห็น และนอกจากนั้นก็ยังได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวปากพนังที่มีความผูกพันกับสายน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวปากพนังให้อยู่ดีกินดี มองเห็นเรือประมงของชาวบ้านมากมายจอดเรียงรายไปตามแนวแม่น้ำ ได้เห็นชาวบ้านแล่นเรือออกมาหาปลา บ้านเรือนบางหลังที่ปลูกอยู่ริมน้ำก็มีกระชังปลาและยออยู่หน้าบ้าน และยังได้เห็น “ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” ประตูน้ำที่แบ่งแยกน้ำจืดน้ำเค็มได้สำเร็จ ได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่คู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์พูนสุขของชาวปากพนังแล้ว ยิ่งทำให้มั่นใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์มากเพียงใด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com