xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเกษตรกรตื่นขึ้นมา ปัญหาน้ำดอยงูก็คลายลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิกฤตของพื้นที่นาปรังในเขตโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่า จ.เชียงราย คือน้ำไม่พอต่อความต้องการ อ่างเก็บน้ำดอยงูมีความจุ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรก็จริง แต่มีน้ำใช้การเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งที่ผ่านมาเพียง 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และเหลือเพียง 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วง 1 เดือนเศษก่อนเข้าฤดูฝน

ปริมาณน้ำต้องสัมพันธ์กับพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งกรมชลประทานกำหนดไว้ที่ 4,000 ไร่ แต่เกษตรกรปลูกถึง 11,000 ไร่ มากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว น้ำที่ไหนจะพอ?

อาจเป็นโชคดีที่มีพายุฤดูร้อนมาพร้อมฝน สภาพขาดแคลนน้ำจึงเบาบางลงอย่างมาก ราวกับไม่มีปัญหา ทั้งที่ปัญหายังดำรงอยู่อย่างเงียบๆ และรอวันประทุในวันข้างหน้า หากไม่มีการเตรียมการแก้ไขไว้ล่วงหน้า

โครงการชลประทานเชียงรายเรียนรู้มาโดยตลอดว่าปัญหานี้แก้โดยลำพังกรมชลประทานไม่มีทางสำเร็จได้ นอกเสียจากต้องดึงพลังจากเกษตรกรให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้วยเท่านั้น

ท้ายอ่างเก็บน้ำดอยงูมีพื้นที่รับน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวา พื้นที่รับน้ำฝั่งขวามีฝาย 4 ตัว ประกอบด้วย ฝายชุ่มเมืองเย็น ฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก ทำหน้าที่ทดน้ำที่ส่งจากอ่างเก็บน้ำดอยงูเข้าไปในพื้นที่การเกษตรอันเป็นพื้นที่ที่มีการแย่งชิงน้ำมากที่สุด

ฝายชุ่มเมืองเย็นไม่ค่อยมีปัญหาเพราะอยู่ต้นน้ำ แต่กลางน้ำอย่างฝายหนองหอย และฝายพ่อขุน และปลายน้ำอย่างฝายโป่งนกนั้นมีปัญหาได้น้ำบ้างไม่ได้บ้าง หลายส่วนถึงกับไม่ได้เลย

กรมชลประทานใช้เครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำได้เรียนรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง และนำเอาพลังศักยภาพนั้นมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำด้วย ซึ่งหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร ตลอดจนชุนชนในพื้นที่ชลประทาน

นายไพโรจน์ แอบยิ้ม เจ้าหน้าที่การเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า ปัญหาระยะสั้นคือการบริหารจัดการน้ำช่วงก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งทุเลาปัญหาไปแล้วเมื่อฝนตกลงมาช่วย

ปัญหาระยะต่อไปเกษตรกรจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างไร ซึ่งจากการร่วมกันลงภาค สนามสำรวจสภาพปัญหา จัดทำแผนที่ทำมือเกี่ยวกับคลองส่งน้ำ แปลงเกษตร เจ้าของแปลง จำนวนที่ดินแต่ละแปลง ปัญหาการส่งน้ำจะทำให้ทราบความต้องการน้ำและสามารถบริหารปริมาณน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณน้ำที่มี

แกนนำเกษตรกรต่างยอมรับว่า ข้อมูลหรือมาตรการต่างๆ ที่กรมชลประทานดำเนินการนั้นเกษตรกรเองเป็นฝ่ายไม่ยอมรับ อาทิ อ่างเก็บน้ำดอยงูมีความจุเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ศึกษาร่วมกันต่างก็ยอมรับว่าจริงเพราะปลูกเกินกว่าที่กำหนด เกษตรกรเองต้องปรับบทบาทมาเป็นผู้ร่วมรับรู้ปัญหา ร่วมตัดสินใจและร่วมดำเนินการด้วย ไม่ปล่อยให้เป็นกรมชลประทานเพียงฝ่ายเดียว

การกำหนดพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกพืช ชนิดของพืชที่จะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่กรมชลประทานจัดสรรให้จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

“เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะถ้ากรมชลประทานทำโดยลำพังเหมือนเดิม มันก็จะเกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ขึ้นมาอีก แต่ถ้าเกษตรกรร่วมด้วย การแก้ไขปัญหาจะง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะเขาจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

นอกจากนั้น เกษตรกรยังขอให้มีการจัดตั้งตัวแทนฝ่ายเกษตรกรในรูปคณะกรรมการ แทนการมีแต่แก่เหมืองหรือแก่ฝายเพียงลำพัง โดยมีจำนวนกรรมการเพิ่มอีก 6 คน รวมทั้งแก่เหมืองหรือแก่ฝายเดิมด้วยซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหารอบด้านมากขึ้น

ในชั้นต่อไปจะมีการจัดแบ่งน้ำเป็นรอบเวรส่งน้ำทั้ง 3 ฝาย คือ ฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพและเป็นการตกลงปลงใจของทั้ง 3 ฝาย

“เดิมทีตัวแทนของฝายหนองหอยกับฝายพ่อขุน มองว่าการที่ฝายโป่งนกได้น้ำไปทำให้ 2 ฝายขาดแคลนน้ำ แต่เมื่อศึกษาจากข้อมูลร่วมกันก็เห็นพ้องว่า ไม่ได้เกิดจากการส่งน้ำของฝายโป่งนกแต่อย่างใด รวมทั้งยอมรับว่า ฝายโป่งนกแม้อยู่ปลายน้ำ ก็มีสิทธิได้รับน้ำเท่าเทียมเช่นเดียวกัน” นายไพโรจน์กล่าว

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์กรมชลประทาน ทำให้เกษตรกรหันหน้าเขาหากัน พูดจากัน แทนการแย่งชิงน้ำหรือใช้กำลังแก้ไขปัญหากลับกันการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ทำให้เห็นภาพรวมของปัญหาและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของคนอื่นด้วย มีจิตใจแบ่งปันมากขึ้น และช่วยให้การแก้ปัญหาดีขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นความยั่งยืนและมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำดอยงู
กำลังโหลดความคิดเห็น