xs
xsm
sm
md
lg

“อ่างเก็บน้ำน้ำเลย” หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ชุบชีวิตใหม่เกษตรกรชาวเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำน้ำเลย หนึ่งในโครงการพระราชดำริ
เลย - “อ่างเก็บน้ำน้ำเลย” เป็นอีกหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ชุบชีวิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลยหลายอำเภอ หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรมาหลายชั่วอายุคน เพราะน้ำไหลลงน้ำโขงหมด ซ้ำยังเผชิญน้ำท่วมซ้ำซากในหน้าฝน แต่ด้วยพระบารมีทำให้ทุกวันนี้ ชาวบ้านทำเกษตรได้ตลอดปี ทั้งจับปลาขายเป็นอาชีพเสริม

จ.เลย มีแม่น้ำสายสำคัญ ประกอบด้วย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเหือง แม่น้ำพอง และแม่น้ำเลย ขณะที่ลุ่มน้ำเลย มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 2.225 ล้านไร่ ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,132 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำความจุรวมเพียง 85.43 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 7.55% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยเท่านั้น โดยน้ำส่วนที่เหลือไหลลงแม่น้ำโขงแทบทั้งสิ้น

จึงไม่แปลกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณนี้จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำหลากท่วมซ้ำซากทุกปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคอีสาน และประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศ จ.สกลนคร ได้มีพระราชดำรัสต่ออธิบดีกรมชลประทานถึงการพัฒนาลุ่มน้ำเลย มีใจความสำคัญโดยสรุปคือ ให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาย

นับแต่นั้นมา อ่างเก็บน้ำน้ำเลย จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการแรกโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ด้วยความจุ 35.807 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นส่วนหนึ่งของความจุรวม 85.43 ล้านลูกบาศก์เมตรข้างต้น โดยเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2558 เฉพาะปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลลงอ่างน้ำเลย เฉลี่ยปีละ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงไหลเต็มอ่างเก็บน้ำน้ำเลยอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับฤดูฝน

ปี 2559 อ่างเก็บน้ำน้ำเลย กักเก็บน้ำเต็มศักยภาพ 35.807 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือต้องระบายลงสู่ท้ายอ่างไปยัง 4 อำเภอ คือ อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมือง และ อ.เชียงคาน ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง

แม่น้ำเลย ไหลจากบริเวณ อ.ภูเรือ ลงมาทางใต้ ก่อนวกขึ้นเหนือผ่าน อ.ภูหลวง และอีก 3 อำเภอตามลำดับก่อนลงแม่น้ำโขง

อ่างเก็บน้ำน้ำเลย มีระบบส่งน้ำ 2 แบบ คือ ระบบสถานีสูบน้ำตามฝายที่ก่อสร้างในลำน้ำเป็นระยะๆ เช่น ฝายบ้านทรายขาว ฝายยางบ้านท่าทิศเฮือง ฝายยางบ้านติดต่อ และฝายยางบ้านปากหมาก รวมทั้งฝายยางบ้านบุ่งกกตาล ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ ระบบนี้จะได้พื้นที่ชลประทาน 34,580 ไร่ อีกระบบเป็นระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงผ่านคลองส่งน้ำ

ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 24,912 ไร่ รวมแล้ว 59,592 ไร่

“อ่างเก็บน้ำน้ำเลย” เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของลุ่มน้ำเลยตอนบน ทั้งการกักเก็บน้ำ ทั้งตัดยอดน้ำฤดูฝน ทั้งใช้ในฤดูแล้ง และรักษาระบบนิเวศหล่อเลี้ยงลำน้ำ จึงเหลือการพัฒนาลุ่มน้ำตอนกลาง และตอนล่างและยังมีโครงการตามนโยบายรัฐบาล คือ พิจารณากักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนปลาย แทนปล่อยทิ้งลงแม่น้ำโขงอย่างเดียว ซึ่งกรมชลประทานกำลังพิจารณาโครงการอยู่ในลักษณะเดียวกับโครงการประตูระบายน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี ที่ปลายทางไหลลงแม่น้ำโขงที่ จ.หนองคาย หรือโครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม ที่ใช้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำก่ำ ก่อนลงแม่น้ำโขง

อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเติมเต็มศักยภาพของแม่น้ำเลยได้มากขึ้น ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง เป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ใช้น้ำเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพการเกษตร และยังสามารถบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวได้ในอนาคตอีกด้วย

นายกุหลาบ โสกัญทัต ราษฎร บ้านเลขที่ 171 หมู่ 7 บ้านสวนปอ ต.แก่งศรภูมิ อ.ภูหลวง หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการของในหลวงดังกล่าว กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ช่วงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำเลยแห้ง ไม่ไหล แต่พอมีโครงการ 2 ปีให้หลัง มีการเก็บน้ำขึ้นมาจากโครงการพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนถึงฤดูแล้ง เราไม่เคยคิดที่จะทำประมงหาปลา แต่ตอนนี้เมื่อเรามีอ่างเก็บน้ำ เราสามารถหาปลาช่วงฤดูแล้งได้ หาปลาขายได้

ปัจจุบัน ชาวบ้านต่างก็มีอาชีพเสริมอีกอย่าง คือ การนำเที่ยว มีแพท่องเที่ยว ขายเครื่องดื่มอาหาร คนทั้งตำบลสามารถมาใช้ทรัพยากรจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ การหาปลาที่อ่างเก็บน้ำนี้ก็ได้ ได้รับประโยชน์จากโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน ชาวบ้านทุกคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะตอบแทนพระองค์ท่าน

“ความดีของพระองค์ที่ทำไว้ต่อพสกนิกรนั้นไม่ว่าแต่บ้านสวนปอ หรือหมู่บ้านใกล้เคียง ในอำเภอภูหลวง หรือทั้งจังหวัดเลย ได้ทุกอย่างจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ไม่ว่าการเกษตร หรือการท่องเที่ยว พระองค์ท่านสร้างอ่างเก็บน้ำให้แล้วมันดีขึ้นกว่าก่อนนี้มาก หลังที่แม่น้ำเลยนี้แห้งมานาน และไม่รู้จะตอบแทนพระองค์ท่านอย่างไรดี” นายกุหลาบ กล่าวอย่างตื้นตันใจ


นายกุหลาบ  โสกัญทัต  ราษฎร บ้านเลขที่ 171 หมู่ 7 บ้านสวนปอ ต.แก่งศรภูมิ อ.ภูหลวง

กำลังโหลดความคิดเห็น