xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางชุบชีวิตคนลุ่มน้ำเลย ต้นน้ำสร้างอ่างฯ-กลางน้ำสร้างฝาย-ท้ายน้ำมี ปตร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลุ่มน้ำเลย จ.เลย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 2 ล้านกว่าไร่ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลักไหลจาก อ.ภูหลวง แหล่งต้นน้ำ วกขึ้นเหนือผ่าน อ.วังสะพุง อ.เมือง และไหลลงสู่ปลายทางแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับจังหวัดและประเทศ

แม่น้ำเลยมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 1,132 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่มีความจุรวมเพียง 85.43 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 7.55% ของปริมาณน้ำท่า นั่นหมายถึงปริมาณน้ำกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลลงทิ้งแม่น้ำโขงทุกปี โดยประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์จากน้ำเหล่านี้เท่าที่ควร

นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายก่อสร้าง กล่าวว่า ราษฎรลุ่มน้ำเลยประสบปัญหาน้ำท่วม และขาดแคลนน้ำ เพราะไม่มีแหล่งน้ำที่เหมาะสม อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นอ่างขนาดเล็ก และที่มีความจุมากกว่า 1 ล้าน ลบ.ม. ก็มีเพียง 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ห้วยอีเลิศ 1.431 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างฯ ห้วยน้ำพาว 1.364 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ห้วยแห้ว 2.73 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุ 5.525 ล้าน ลบ.ม. นอกนั้นเป็นอ่างขนาดเล็กกว่า และมีฝายเล็กฝายน้อยในลำน้ำเพื่อทดน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก

สภาพเช่นนี้จึงไม่แปลกที่พื้นที่ดังกล่าวของ จ.เลย จะประสบปัญหาเรื่องน้ำตลอดมา ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ
ให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำบริเวณแม่น้ำเลย 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำเลย เขื่อนน้ำทบ เขื่อนน้ำลาย และก่อสร้างฝายหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสมบริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง โดยให้เขื่อนกักเก็บน้ำส่งน้ำลงมาเสริมน้ำธรรมชาติที่ฝายด้านล่าง

ถือเป็นความชัดเจนในแนวทางพระราชดำริอย่างยิ่ง กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขา 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ห้วยน้ำสวย 3.30 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ห้วยน้ำหมาน 26.50 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ บ้านน้ำคู้ 1.42 ล้าน ลบ.ม.และอ่างฯ น้ำเลย ในแม่น้ำเลย ความจุ 35.807 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งกรมชลประทานโดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จ และเก็บกักน้ำได้ในปี 2559 นี้ ส่งผลให้ปริมาณความจุของแหล่งน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำเลยรวมกัน 85.43 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งก็ยังคงน้อย ยังต้องรอการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำทบและอ่างเก็บน้ำน้ำลายตามพระราชดำริต่อไป

ส่วนฝายนั้น กรมชลประทานได้ก่อสร้างฝายในลำน้ำเลย ได้แก่ ฝายยางบ้านทรายขาว ฝายยางบ้านท่าทิศเฮือง ฝายยางบ้านติดต่อ ฝายบ้านปากหมาก และฝายยางบ้านบุ่งกกตาล ซึ่งทำหน้าที่ทดน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร นอกเหนือจากฝายเล็กฝายน้อยจำนวนมากที่สะท้อนถึงความต้องการน้ำอย่างมากของเกษตรกร

“ลำพังฝายเก็บน้ำไว้ในลำน้ำได้ในปริมาณจำกัด หากไม่มีน้ำต้นทุนด้านบนส่งมาก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตอนบนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการกันต่อไป” นายณรงค์กล่าว

ไม่ต่างจากโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน ก่อนที่แม่น้ำเลยจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงนั้น นายณรงค์กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลต้องการเก็บน้ำไว้ในแผ่นดินไทยให้มากที่สุด แทนการปล่อยลงแม่น้ำโขงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านมา โดย ปตร.ศรีสองรักจะเก็บกักน้ำปลายฤดูฝนไว้ในลำน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม.รองรับฤดูแล้ง ในขณะฤดูน้ำหลากก็จะใช้ ปตร.ศรีสองรักบริหารจัดการทั้งน้ำหลากภายในลุ่มน้ำและน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้ท่วมพื้นที่

“ที่สำคัญอีกอย่าง เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเลยต่ำมากๆ ก็สามารถสูบน้ำโขงส่วนที่ไหลเข้ามาในแผ่นดินไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย เพราะมี ปตร.ศรีสองรักเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ลักษณะเดียวกับโครงการ ปตร.ธรณิศนฤมิต จ.นครพนม หรือ ปตร.ห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จะเห็นได้ว่า แนวทางพระราชดำริ และนโยบายของรัฐบาลล้วนมุ่งบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎรลุ่มน้ำเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าฤดูน้ำหลากหรือฤดูแล้ง เป็นการสร้างความมั่นคงให้ลุ่มน้ำเลยอีกประการหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น