xs
xsm
sm
md
lg

โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองตะโก ชุมพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพภูมิประเทศของชุมพรมีลักษณะลาดชันบริเวณพื้นที่ต้นน้ำซึ่งเป็นเทือกเขา แล้วค่อยเป็นที่ราบสลับที่ดอนบริเวณตอนล่าง แม่น้ำส่วนใหญ่จะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่อ่าวไทยทั้งสิ้น

เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนัก และต่อเนื่องหลายวันในช่วงฤดูฝน น้ำจะหลากเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่างก่อนไหลออกทะเลเป็นประจำทุกปี

ชุมพรเผชิญปัญหาพายุใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง คือพายุไต้ฝุ่นเกย์ ปี 2532 และพายุโซนร้อนซีต้า ปี 2540 สร้างความเสียหายและเดือดร้อนแสนสาหัสทั้งชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล

ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพรแล้ว ยังมีพระราชดำริให้เร่งรัดงานป้องกันบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริจนกระทั่งปัจจุบัน เช่น การพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่เป็นแก้มลิง การขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล และการก่อสร้างคลองสายหลักต่างๆ จนสามารถป้องกันบรรเทาน้ำท่วมในเขตเมืองชุมพรในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาได้เป็นที่น่าพอใจ

แต่ยังไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ลุ่มน้ำคลองชุมพร ลุ่มน้ำคลองสวี ลุ่มน้ำคลองตะโก ลุ่มน้ำคลองหลังสวน และลุ่มน้ำคลองละแม-คลองดวด

กรมชลประทานจึงต้องดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชุมพร เพื่อวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่ จ.ชุมพร และพื้นที่เกี่ยวเนื่องให้มีแผนงานบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงทั้งระบบ ตามศักยภาพและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม

โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโกได้รับการพิจารณาเป็นโครงการเริ่มต้นในการพัฒนาเพื่อลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ

ลุ่มน้ำคลองตะโก มีสภาพภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาสูง เป็นต้นน้ำสายหลัก ได้แก่ คลองตะโก คลองห้วยทอนพลา คลองโชน และคลองเพรา มีลักษณะคล้ายแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน โดยคลองคู่แรกบรรจบกัน เช่นเดียวกับคลองคู่หลัง แล้วไหลมาบรรจบกันก่อนไหลลงสู่พื้นที่ราบ และออกสู่ทะเล

“ทั้งจากการขยายตัวของชุมชน พื้นที่ทำกิน การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน คลองเหล่านี้ก็ตื้นเขินและแคบลง เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมสองฝั่งคลอง โดยเฉพาะชุมชนในเขต ต.ช่องไม้แก้ว ต.ตะโก และเทศบาล ต.ทุ่งตะไคร แม้จะไม่ท่วมขังนาน แต่ก็สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นประจำ” นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กล่าว

องค์ประกอบสำคัญของโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก ได้แก่ งานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองธรรมชาติ และอาคารประกอบตามลำน้ำ 4 สาย ได้แก่ คลองตะโก ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร คลองห้วยทอนพลา 4.33 กิโลเมตร คลองโชน 2.95 กิโลเมตร และคลองเพรา 3 กิโลเมตร รวมความยาว 17.42 กิโลเมตร

“เป็นการขุดลอกคลอง เพิ่มความลึกและความกว้าง รองรับการระบายน้ำได้ดีขึ้น โดยมีอัตราการระบายได้มากถึง 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะลดพื้นที่น้ำท่วมได้มากถึง 1,500 ไร่ทีเดียว ขณะเดียวกัน จะเก็บน้ำไว้ในลำคลองสำหรับใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 6,511 ไร่อีกด้วย”

อีกส่วน ได้แก่ การก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองตะโก ซึ่งเป็นคลองสายหลักในลักษณะเดียวกับโครงการขุดคลองหัววัง-พนังตัก บริเวณ ต.บ้านทุ่งตะไคร ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ โดยเปิดระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และปิดเก็บน้ำไว้ในลำน้ำปลายช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง เท่ากับปิดกั้นไม่ให้น้ำทะเลหนุนขึ้นไปด้านบน

ส่วนสุดท้าย เป็นงานปรับปรุงสะพาน ท่อลอดถนน และสะพานทางรถไฟ ที่เป็นอุปสรรคและกีดขวางการไหลของน้ำให้ระบายสะดวกและไม่เอ่อล้นตลิ่ง

“ถือเป็นโครงการเร่งด่วน เพราะราษฎรเดือดร้อน เรียกร้องให้แก้ไขปัญหามานานแล้ว โดยจัดทำเป็นแผนก่อสร้างระยะ 4 ปี เริ่มปี 2560 แล้วเสร็จปี 2563 ซึ่งจะช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนได้พอสมควรทีเดียว” นายประพิศกล่าว

สำหรับโครงการนี้ นอกจากลดทอนปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากแล้ว ยังเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สำหรับสวนไม้ผล ซึ่งปกติจะขาดแคลนน้ำ อย่าลืมว่า อ.ทุ่งตะโกเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของ จ.ชุมพร การมีน้ำมั่นคงเท่ากับเป็นหลักประกันในการทำกินยั่งยืนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น