ต่อยอดโครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง ชุ่มฉ่ำ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
อ.ห้วยกระเจา เป็นหนึ่งในพื้นที่แล้งฝนจนได้รับสมญานามว่า “อีสานเมืองกาญจน์” ร่วมกับ อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย และ อ.หนองปรือ คำว่า พื้นที่แล้งฝน อับฝน เงาฝน กระทั่งหลังเขา ล้วนมีความหมายใกล้กันเพราะตั้งอยู่เชิงเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดขึ้นมาผ่านประเทศพม่า ปะทะแนวเทือกเขาตะนาวศรี ฝนตกฝั่งพม่า แม้ลมหอบเอาฝนขึ้นเหนือเทือกเขาได้แต่ก็ตกในพื้นที่ห่างไกลออกไป
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า โครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง เป็นความพยายามจัดหาน้ำให้พื้นที่แห้งแล้งที่สุดของ จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้ชื่อว่ามีน้ำอุดมสมบูรณ์ โดยดึงน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำที่รับน้ำจากเขื่อนเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนขนาดใหญ่ความจุมากอันดับ 1 และ 4 ของประเทศไทย
การส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ อ.ห้วยกระเจา ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าทำได้โดยระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและวางท่อความยาว 9 กิโลเมตร
“จริงๆ โครงการนี้วางแผนมานานแล้ว แต่กว่าสำเร็จใช้เวลานานมาก ติดด้วยมิติความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จนเมื่อมองด้วยมิติทางสังคมและความมั่นคงก็พบความจริงว่า คนเหล่านี้ก็ควรได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน แม้จะต้องลงทุนมากกว่าก็ตาม และจะเป็นคำตอบถึงความคุ้มค่าหลายๆ มิติตามมา”
เมื่อมีน้ำท่าสมบูรณ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีโครงการรองรับน้ำเหล่านี้ ซึ่งกรมชลประทานมีโครงการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ความจุ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการเติมน้ำในสระน้ำวัดทิพย์สุคนธารามในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโครงการส่งน้ำเติมอ่างเก็บน้ำหนองมะสังข์
“ท่อส่งน้ำจากโครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง เหมือนคลองขนาดใหญ่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ การต่อยอดทำโดยพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นมาทั้งสองฝั่งแล้วส่งน้ำไปเติม ขณะนี้มีทั้งอ่างเก็บน้ำดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีน้ำ และสระน้ำที่สร้างใหม่หลายแห่ง แต่การเชื่อมต่อยังต้องรอความพร้อม”
ด้านนายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำทั้ง 3 จุด ขณะนี้แล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการเติมน้ำอ่างเก็บน้ำหนองมะสังข์ 400,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นการสั่งการจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อครั้งเดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 และได้รับการร้องขอจากราษฎร ต.วังไผ่ ว่าได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
“ตอนนี้โครงการเสร็จเกือบ 100% เป็นท่อแยกจากท่อเมนของท่าล้อ-อู่ทอง ส่งไปไว้ในถังพักความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตรก่อน แล้วส่งต่อด้วยระบบแรงโน้มถ่วงไปเติมอ่างเก็บน้ำหนองมะสังข์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลดปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำลงได้”
สำหรับโครงการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลนั้น ระบบส่งน้ำเสร็จแล้วเช่นกัน แต่ยังต้องรอการขุดลอกตัวอ่างที่ตื้นเขิน ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานอื่นให้แล้วเสร็จก่อน ก็ส่งน้ำได้ทันที และลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เทศบาล อ.ห้วยกระเจา ซึ่งหน่วยราชการทั้งอำเภอใช้น้ำจากแหล่งนี้
ส่วนโครงการส่งน้ำเติมสระน้ำวัดทิพย์สุคนธาราม กรมชลประทานได้ส่งน้ำให้สระ 3 สระ ความจุ รวม 1.15 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงฤดูแล้ง 2558/2559 ที่ผ่านมา
“คนขอมาใช้น้ำมากมาย มีทั้งของวัดที่ต้องใช้เองด้วย และหน่วยงานท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำ ตอนนี้สระน้ำวัดทิพย์ฯ กลายเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของห้วยกระเจา จนกว่าอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลจะเก็บน้ำได้” นายประพิศกล่าว
สำหรับปีงบประมาณ 2560 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จะก่อสร้างระบบส่งน้ำอีก 4 สาย เข้าพื้นที่ซ้ายและขวาของท่อส่งน้ำ ความจุรวม 800,000 ลูกบาศก์เมตร
“โครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง สามารถขจัดปัญหาความขาดแคลนน้ำได้เต็มที่ครบทั้ง 4 ตำบลที่มีอยู่ของ อ.ห้วยกระเจา ยกเว้นพื้นที่สูงมากส่งน้ำไม่ถึงจริงๆ เท่ากับลดพื้นที่อีสานเมืองกาญจน์สำเร็จลงได้หนึ่งอำเภอเลยทีเดียว”
โครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ร่วม 20,000 ไร่ และน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้แทบทั้งอำเภอ
ส่วนนายสิริพงศ์ สืบเนียม นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลห้วยกระเจา ยังต้องการให้กรมชลประทานขยายความจุอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ซึ่งปัจจุบันกำลังขุดขยายจาก 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรอยู่แล้ว ยังมีพื้นที่สาธารณะอยู่ติดกัน 3,500 ไร่ สามารถขยายไปได้อีก เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับเขตเทศบาล หรือต่อท่อส่งน้ำไปยังแหล่งน้ำใกล้ๆ
“ถ้าไม่มีน้ำจากวัดทิพย์ฯ เทศบาลต้องใช้รถไปขนน้ำถึงอู่ทองหรือบ่อพลอย ซึ่งไกลมาก แถมได้น้ำน้อย แต่ต้องทำเพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน”
นายวัชรพล สืบดา กำนัน ต.ห้วยกระเจา กล่าวว่า พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ปลูกอ้อยกับมันสำปะหลัง ความแห้งแล้ง ทำให้ขนาดของอ้อยเท่ากับต้นตะไคร้ หัวมันสำปะหลังก็เล็กเท่ามันฝรั่ง แม้กระทั่งน้ำอาบก็ยังเดือดร้อนไปทั่ว รู้สึกมีความหวังที่กรมชลประทานเข้ามาดำเนินโครงการนี้