xs
xsm
sm
md
lg

ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่อีสานต่างภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คำว่า “อีสาน” ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย นอกเหนือจากอีสานที่มีความหมายจำเพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่บางภาคโดยรวมแม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีบางจุดที่มีสภาพเป็นอีสานคือแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ตามด้วยปัญหาความยากจน
และคุณภาพชีวิต

จะว่าไป ปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคอีสานจริงๆ กลับเริ่มพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ เพราะเห็นปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลายาวนาน และส่งผลถึงคุณภาพชีวิตคนอีสานที่ค่อนข้างอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น การพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสานในทุกรัฐบาล จึงระดมทำทุกรูปแบบ ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ลงไปถึงแก้มลิง ประตูระบายน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมไปจนถึงแนวคิดในการเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงแทนการปล่อยลงแม่น้ำโขงทั้งหมด ตลอดจนการนำแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ในบางจังหวะเวลาที่ไม่กระทบต่อประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงด้วยกัน

อีสานของจริง กำลังดีวันดีคืน เมื่อเทียบกับในอดีตอันยาวนาน

ในทางกลับกัน หลายภาคที่แลดูอุดมสมบูรณ์นั้นเอาเข้าจริงยังมีซอกหลืบของความขาดแคลนน้ำหลงเหลืออยู่อย่างไม่น่าเชื่อ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ชื่อว่ามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มาก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สุดของประเทศติด 2 ใน 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ความจุมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 4 ของประเทศตามลำดับ แต่กาญจนบุรีกลับมีพื้นที่ที่เรียกขานว่าอีสานของเมืองกาญจน์ ได้แก่ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย และ อ.หนองเรือ

เช่นเดียวกับ จ.ชัยนาท ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมากมายและแทบตลอดเวลา แต่ชัยนาทเองกลับมีพื้นที่ที่เรียกขานเป็นอีสาน ได้แก่ อ.หันคา และ อ.เนินขาม รวมไปถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่อยู่ติดกัน

อีสานเมืองกาญจน์นั้น สภาพภูมิประเทศเป็นที่สูงติดเทือกเขาตะนาวศรี เป็นพื้นที่อับฝน ในอดีตเมื่อถึงฤดูแล้งชาวบ้านต้องต้อนวัวควายเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่อุดมสมบูรณ์กว่า แทนที่จะปล่อยอดตายอยู่ในพื้นที่ เกษตรกรทำการเกษตรน้ำฝนเพียงอย่างเดียว หน้าแล้งต้องอพยพไปหางานทำที่อื่นไม่ต่างจากภาคอีสานของแท้ในอดีต

อีสานชัยนาท ทำเกษตรน้ำฝนอย่างเดียวเช่นกัน ทั้งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำอุดมของลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มสะแกกรัง พื้นที่แถบนี้เป็นที่ดอน น้ำส่งไปไม่ถึง แม้จะมีข้อจำกัดทางกายภาพแต่กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องน้ำ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันบรรเทาปัญหาจากน้ำ ต้องพยายามหาทางให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เข้าถึงน้ำให้ได้

น้ำมั่นคงอย่างเดียว อย่างอื่นพลอยมั่นคงตามไปด้วย โดยเฉพาะการทำกินและคุณภาพชีวิตของคนในลุ่มน้ำนั้นๆ

นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า ภารกิจของกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง คือการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สำหรับอีสานเมืองกาญจน์นั้น กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางได้ก่อสร้างโครงการสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง เพื่อเติมอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล อ.ห้วยกระเจา ระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสถานีสูบน้ำและท่อส่งน้ำสายหลักไปอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล แต่ยังไม่ได้สูบ เพราะยังรอการขุดลอกตะกอนดินในอ่างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ หากแล้วเสร็จคาดว่าจะมีความจุน้ำในอ่าง 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนท่อแยกส่งน้ำเข้าวัดทิพย์สุคนธาราม เพื่อเติมสระ 3 แห่ง ความจุรวม 3.4 แสนลูกบาศก์เมตร ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 และได้สูบน้ำเข้าไปเติมสระจนเต็ม ช่วยผ่อนคลายปัญหาขาดแคลนน้ำของ อ.ห้วยกระเจา ในช่วงฤดูแล้ง 2558/2559

นอกจากนั้น กรมชลประทานโดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ยังขยายพื้นที่โครงการส่งน้ำไปจนถึง ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา เพิ่มเติม หลังจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการร้องขอน้ำจากราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เพื่อเติมน้ำในสระสาธารณะความจุ 6 แสนลูกบาศก์เมตร

โครงการท่าล้อ-อู่ทอง เป็นโครงการสำคัญในโครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี-พนมทวน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำความยาว 61 กิโลเมตร ผันน้ำแม่กลอง จาก ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ไปเติมน้ำในแม่น้ำจรเข้สามพัน ซึ่งระหว่างทางจะก่อสร้างสถานีสูบน้ำเป็นระยะๆ 34 สถานี สำหรับนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา อ.บ่อพลอย และ อ.พนมทวน

นั่นหมายถึงอีสานเมืองกาญจน์กำลังได้รับการพัฒนาเรื่องน้ำกันอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนอีสานชัยนาท กรมชลประทานได้พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง ความจุ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 12,000 ไร่ ในเขต ต.กระบกเตี้ย ต.สุขเดือนห้า ของ อ.เนินขาม และ ต.หนองบ่มกล้วย อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี นอกจากนั้นยังช่วยตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลลงไปท่วมพื้นที่ อ.หันคา อีกด้วย

คาดหมายว่า อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงจะแล้วเสร็จปี 2560 และระบบส่งน้ำคาดว่าจะเสร็จในปี 2562 นั่นหมายความว่า นับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทร้องขอโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2532 กว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบชลประทานได้จริงนั้น ต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปีทีเดียว

จะเห็นได้ว่า กว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละแห่งจะถือกำเนิดขึ้นมาได้นั้นต้องใช้เวลานานโขทีเดียว เพราะมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะกระบวนการศึกษา และกระบวนการงบประมาณ ส่วนกระบวนการก่อสร้างนั้น หากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและใหญ่ใช้เวลา 3-5 ปี และระบบส่งน้ำอีก 2-3 ปี

การพลิกฟื้นให้พื้นที่อีสานเมืองกาญจน์ก็ดี พื้นที่อีสานชัยนาทก็ดี เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำได้นั้น ไม่เพียงประชาชนจะได้ประโยชน์จากน้ำ มีน้ำใช้ น้ำทำกิน มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากยังทำให้พื้นที่เหล่านั้นเกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์แล้วไม่มีใครอยากละทิ้งถิ่นไปไหน ตรงข้ามกลับจะยิ่งดูแลบำรุงรักษาถิ่นที่อยู่ให้เข้มแข็งเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น บังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น