xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์ผุดฝายมีชีวิตดิน น้ำ ป่า ต้นแบบแก้แล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์-กลุ่มมิตรผลร่วมกับร่วมกับชุมชน ส่วนราชการและเครือข่ายฝายมีชีวิตระดมแรงงานชาวบ้านสร้างฝายมีชีวิตดิน น้ำ ป่า แห่งแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ หวังเป็นฝายต้นแบบแก้ปัญหาภัยแล้งตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ลำห้วยบ้านโคกกลาง ม.6 ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวินัยวิทยานุกูล ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์ นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ ดร.ดำรง โยธารักษ์ ผู้ริเริ่มฝายมีชีวิต

พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่มมิตรผล ข้าราชการ เครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย นักเรียน และประชาชนชาว ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ร่วมกันทำพิธีเปิดฝายมีชีวิต ดิน น้ำ ป่า แห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ และลำดับที่ 250 ของประเทศ

ฝายดังกล่าวเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วน สร้างขึ้นในลำห้วยบ้านโคกกลางด้วยมือ โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เพื่อชะลอน้ำในฤดูฝนและแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ พร้อมร่วมกันลงนามข้อตกลงเพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนฝายมีชีวิตดิน น้ำ ป่า ของ จ.กาฬสินธุ์ และจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ ที่วัดป่านาคำ ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

นายมะลิ โคตรศรี ผู้ใหญ่บ้านโคกกลาง ม.6 ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานฝายมีชีวิตบ้านโคกกลาง กล่าวว่า ด้วยในพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และส่งผลกระทบอย่างมากกับพี่น้องเกษตรกรและประชาชน โดยในฤดูฝนมีน้ำเต็มลำคลอง แต่ในฤดูแล้งน้ำก็แห้งขอดหมดคลอง ทำให้เกษตรกรชาวไร้อ้อยต้องสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้เพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มมิตรผลได้เล็งเห็นความสำคัญ ด้านความมั่นคงในทรัพยากรผืนดิน น้ำ ป่า อันเป็นต้นทุนในการผลิตวัตถุดิบ จึงได้ร่วมกับชุมชน เครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย ภาคราชการ เครือข่ายบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยัง และฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมของมิตรผลจัดทำฝายมีชีวิต ดิน น้ำ ป่า แห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ และลำดับที่ 250 ของประเทศขึ้น

โดยยึดหลักสามขาของฝายมีชีวิต ซึ่งเริ่มจากประชาชนเข้าใจ คือชุมชนต้องเข้าใจเรื่องฝายมีชีวิตก่อนตัดสินใจทำ ประชาชนร่วมทำ คือทำโดยไม่ใช้งบประมาณ ใช้แรงงานในชุมชน และปรองดองกับธรรมชาติ คือ ไม่นำสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติไปทำฝาย เช่น เหล็ก ปูน แต่จะใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ทั้ง ไม้ไผ่สด เชือก ทราย และกระสอบบรรจุทราย ทั้งยังต้องมีธรรมนูญฝายหรือกฎกติกาเมื่อสร้างเสร็จ

ด้านนายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับฝายมีชีวิตดังกล่าว นอกจากจะเป็นกระบวนการสร้างฝายรูปแบบประชารัฐ ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแล้ว ซึ่งฝายแห่งนี้จะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-10 ปี ยังมีประโยชน์ในการช่วยชะลอน้ำในฤดูฝน กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพิ่มพื้นที่ชุมน้ำรอบๆฝาย ช่วยยกระดับน้ำใต้ดิน และรักษาระบบนิเวศน์ให้มีความสมดุล อนุรักษ์สัตว์น้ำ พืชพรรณให้คงอยู่ ตลอดจนยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นอีกด้วย

ต่อไป จ.กาฬสินธุ์ จะผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการก่อสร้างฝายลักษณะดังกล่าวขึ้น โดยยึดเอาต้นแบบฝ่ายมีชีวิตดิน น้ำ ป่า แห่งนี้ไปเป็นแบบอย่าง เพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น