xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เปิดรายงาน “โครงการบ่อน้ำจิ๋ว” 4 จังหวัดอีสานใต้ ปี 57-58 ยุค คสช. พบสลับชื่อเกษตรกรขอสิทธิ์ขุดบ่อกันวุ่น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.เปิดรายงาน “โครงการบ่อน้ำจิ๋ว” ปี 57-58 วงเงิน 356 ล้านบาท 4 จังหวัดอีสานใต้ ของ ก.เกษตรฯ ยุค คสช. พบกว่า 132 แห่งจาก 201 แห่ง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ แม้จะเป็นเงินร่วมลงทุนระหว่างเกษตรกร 2.5 พัน/บ่อ และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ 2.3 หมื่น/บ่อ เผยมีการเปลี่ยนแปลง-สลับรายชื่อเกษตรกรที่ไม่ได้รับการขุดสระ กว่า 6,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 18,090 ราย ส่วนบ่อจิ๋ว ปี 57-58 ขุดแล้ว 56,206 บ่อ รัฐบาลไฟเขียวปี 60 จ่อขุดอีก 70,000 บ่อ

วันนี้ (5 มี.ค.) มีรายงานว่าเว็บไซต์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน (บ่อจิ๋ว) ของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2557-2558 เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ดำเนินการโดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เห็นชอบในหลักการโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมติวันที่ 17 สิงหาคม 2547 รับทราบผลการสำรวจความต้องการแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกร ระยะที่ 1 จำนวน 919,289 บ่อ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินจัดทำโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 ซึ่งมีสถานีพัฒนาที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ และสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ช่วงปีงบประมาณ 2549-2558 ขุดสระน้ำไปแล้วจำนวน 64,445 บ่อ เป็นเงินจำนวน 985.06 ล้านบาท

จากการตรวจสอบโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ ของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ ความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ ผลประโยชน์ของเกษตรกรที่ควรได้รับ ตลอดจนวิธีการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยสรุปรายละเอียดของแต่ละประเด็น ดังนี้

132 รายกักน้ำไม่ได้ตลอดปี บางแห่งใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์

ข้อตรวจพบที่ 1 แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานบางแห่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

การดำเนินโครงการ กรมพัฒนาที่ดินได้กำหนดคู่มือการดำเนินงานโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และได้นิยามคำจัดกัดความของการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในไร่นาไว้ คือ การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในไร่นา “การนำน้ำในบ่อมาใช้เพื่อการปลูกพืชจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำของเกษตรกร และการเลือกชนิดพืชปลูกที่เหมาะสม เกษตรกรสามารถใช้น้ำจากบ่อในการทำนาโดยนำไปใช้สำหรับการเพาะกล้าข้าว หรือใช้ในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง และเป็นระยะต้นข้าวจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต นอกจากใช้เพื่อการทำนาแล้ว การปลูกพืชผักรอบบ่อ หรือปลูกพืชหลังนาบริเวณใกล้เคียงบ่อน้ำ โดยนำน้ำจากบ่อไปใช้ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชดังกล่าวเพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์มากที่สุด และเพียงพอสำหรับใช้ปลูกพืชได้ตลอดฤดูกาล...”

จากการสุ่มสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ของสระน้ำ ในปีงบประมาณ 2557-2558 จำนวน 74 ราย ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ และสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ พบว่า เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสระน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จำนวน 48 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.86 ของจำนวนที่สุ่มสังเกตการณ์ และจากการสอบถามเกษตรกร เจ้าของสระน้ำ จำนวน 201 ราย กรณีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ พบว่า สระน้ำของเกษตรกรที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตลอดปี จำนวน 132 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.67
 
เปลี่ยนแปลง-สลับรายชื่อเกษตรกรที่ไม่ได้รับการขุดสระกว่า 6,000 ราย

ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คู่มือการดำเนินโครงการ และแนวทางที่กำหนด

การดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง คู่มือการดำเนินโครงการ และแนวทางที่กำหนด รวมถึงการกำหนดขั้นตอนให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ พบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือฯ และแนวทางที่กำหนด โดยสรุปผลได้ ดังนี้

1. สำรวจและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มีความต้องการสระน้ำ พบว่า สถานีพัฒนาที่ดินฯ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นไปตามคู่มือการดำเนินโครงการ และแนวทางที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการบางรายอาจไม่มีความต้องการที่จะขุดสระน้ำ หรือมีเหตุผลความจำเป็นอื่น หรือผู้รับจ้างไม่ทำการขุดสระน้ำตามรายชื่อเกษตรกรรายที่ได้รับการอนุมัติขุดสระน้ำในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้าง ทำให้ต้องสำรวจหาเกษตรกรรายอื่นทดแทน ในปีงบประมาณ 2557-2558 สถานีพัฒนาที่ดินฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย จำนวน 18,090 ราย และมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อเกษตรกรที่ไม่ได้รับการขุดสระ จำนวน 6,753 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.33 ของเกษตรกรที่มีรายชื่อได้รับการขุดสระตามเป้าหมาย

2. การคัดเลือกเกษตรกร พบว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินผู้รับผิดชอบไม่ได้ปฏิบัติงานอย่างจริงจังในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเกษตรกร ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ตามเอกสารสิทธิ หนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการก่อสร้าง หรือสำรวจศักยภาพพื้นที่ และความพร้อมของเกษตรกรที่มีความต้องการขุดสระน้ำ

คัดเลือกพื้นที่ผิดเป้าหมาย ไม่ใช่พื้นที่ราบต่ำ ขาดประสิทธิภาพเก็บกักน้ำ

3. การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย พบว่า การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ราบต่ำ ขาดประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ พื้นที่เป็นดินทราย พื้นที่เกลือ ขึ้นเป็นดินเค็ม พื้นที่ซึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร หรือขนาดพื้นที่ขุดสระน้ำมีไม่เพียงพอตามเงื่อนไขของโครงการ

4. การเก็บเงินสมทบจากเกษตรกร พบว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินของสถานีพัฒนาที่ดินฯ ไม่ได้จัดเก็บเงินสมทบจากเกษตรกรด้วยตนเองทุกราย โดยเกษตรกรได้จ่ายเงินสมทบให้แก่บุคคลอื่น ได้แก่ ผู้รับจ้าง จำนวน 158 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.60 และจ่ายให้หมอดินอาสา จำนวน 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.92 หรือผู้นำชุมชน จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.48 และเกษตรกรไม่ได้รับใบเสร็จรับเงินจากเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาที่ดินแต่อย่างใด คิดเป็นร้อยละ 100

5. การขุดสระ พบว่า ไม่มีการตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ขุดสระน้ำอย่างจริงจัง และส่วนใหญ่พื้นที่ขุดสระน้ำจะเป็นที่ดอน จำนวน 127 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.18 ของจำนวนเกษตรกรที่สอบถาม ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ราบต่ำที่มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ พื้นที่ขุดสระของเกษตรกรบางรายเมื่อผู้รับจ้างดำเนินการขุดสระน้ำแล้วไม่สามารถขุดสระต่อไปได้ เนื่องจากสภาพดินชั้นล่างเป็นดินแข็ง ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรและสถานที่ขุดสระน้ำเป็นจำนวนมาก

ไม่มีเกษตรกรรายใดที่สามารถเลือกรูปแบบของสระน้ำได้

6. รูปแบบของสระน้ำ ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการแหล่งน้ำในไร่นาแบบสระเก็บน้ำมี ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร มีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ รูปตัว I และรูปตัว L ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยได้รับคำแนะนำจากหมอดินอาสา และช่างควบคุมงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ส่วนใหญ่สระน้ำของเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติการขุดสระน้ำไม่ทราบว่ามีรูปแบบสระน้ำให้เลือกเป็นตัว I และตัว L และไม่มีเกษตรกรรายใดที่สามารถเลือกรูปแบบของสระน้ำ รวมถึงไม่ได้รับคำแนะนำจากหมอดินอาสาและช่างควบคุมงาน เมื่อจะดำเนินการขุดสระน้ำ ผู้รับจ้างจะเป็นผู้พิจารณาจากสภาพและขนาดพื้นที่ของเกษตรกรที่จะขุด และจากการสังเกตการณ์สระน้ำ จำนวน 74 ราย พบว่า สระน้ำของเกษตรกรที่สังเกตการณ์ทั้งหมดเป็นรูปตัว I จำนวน 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 100

7. การมีส่วนร่วมของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรที่ได้รับการขุดสระน้ำบางรายไม่ใช่ เกษตรกรจริง บางรายไม่ได้พักอาศัยในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งไม่ได้ดูแลรักษาสระน้ำ และไม่ได้ใช้ ประโยชน์จากสระน้ำเพื่อการเกษตร จึงทำให้ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพิ่มรายได้ภายในครัวเรือน จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.77

8. การปลูกหญ้าแฝก พบว่า เกษตรกรไม่สามารถดูแลรักษาสระน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ หรือดูแลรักษา โดยปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่สระน้ำจะมีอายุการใช้งานได้นาน มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ จำนวน 66 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.19 ของจำนวนเกษตรกรที่สุ่มสังเกตการณ์

ส่งงานล่าช้า เกษตรกรเสียโอกาสใช้ประโยชน์จากสระน้ำ

ข้อสังเกตที่ 1 ความล่าช้าของการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการขุดสระน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูกาลทำนา หรือก่อนฤดูฝน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องการเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย โดยกำหนดให้วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย

จากการตรวจสอบพบว่า สถานีพัฒนาที่ดินฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการแหล่งน้ำฯ ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 43 สัญญา และปีงบประมาณ 2558 จำนวน 40 สัญญา โดยสัญญาที่ส่งมอบงานหลังวันเริ่มต้นฤดูฝน ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 25 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 58.14 และปีงบประมาณ 2558 จำนวน 6 สัญญา คิดเป็นร้อยละ 15.00 สถานีพัฒนาที่ดินฯ ก่อสร้างแหล่งน้ำแล้ว เสร็จหลังวันเริ่มต้นฤดูฝนของแต่ละปี ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากสระน้ำที่ได้รับ เนื่องจากไม่สามารถรองรับน้ำในฤดูฝน ส่งผลให้น้ำต้นทุนไหลเข้าสระน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ข้อสังเกตที่ 2 การติดตามและการประเมินผลโครงการ ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน กำหนดให้กลุ่มติดตามและประเมินผล กองแผนงานเป็นผู้รับผิดชอบ โดยแบ่งงานเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นตอนการติดตามโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 2. ขั้นตอนการประเมินผลโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จากการตรวจสอบเอกสารและสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ พบว่า โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดินเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีรายงาน การติดตามและประเมินผลโครงการฯ เพียง 2 ครั้ง ได้แก่ รายงานการติดตามงานโครงการแหล่งน้ำใน ไร่นานอกเขตชลประทาน พ.ศ. 2551 ของกองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน และรายงานการประเมินผล โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปี 2556 เสนอกรมพัฒนาที่ดิน

ข้อสังเกตที่ 3 การควบคุมภายใน จากรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการปรับปรุงการควบคุมภายในของปีงบประมาณ 2558 พบว่า สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จัดทำรายงานผลการติดตามการ ปฏิบัติตามแผนการปรับปรุงการควบคุมภายในของงวดก่อน ระดับส่วนงานย่อย ส่วนใหญ่ไม่มีการประเมินจุดอ่อนของการควบคุมหรือความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือโครงการอื่นๆ ที่ปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินโครงการมีความเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ การไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอน ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการฯ การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2520

เสนอแนะอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน-ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินเขต 3 พร้อม 4 จว.อีสานใต้

ข้อเสนอแนะเพื่อให้โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 และผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน พิจารณาสั่งการให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

ข้อเสนอแนะต่ออธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

1. พิจารณาทบทวนปรับปรุงรายละเอียดของโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานให้เหมาะสม รอบคอบและชัดเจน เช่น เป้าหมาย ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการต้องให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วย โดยในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายต้องมาจากความต้องการของเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอย่างแท้จริง 2. กำหนดภารกิจงานดำเนินการขุดสระน้ำของโครงการฯ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณงานที่ต้องดำเนินการในแต่ละปีอย่างเหมาะสม และเป็นการลดภาระงานที่มีมากจนเกินไป รวมถึงความรับผิดชอบงานในระดับนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน งานในระดับจังหวัด งานสั่งการ และงานเร่งด่วน

3. ควรปรับปรุงระบบคู่มือการใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลแหล่งน้ำในไร่นานอกเขต ชลประทานให้มีความถูกต้องรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลในระบบไปใช้ประโยชน์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาเกษตรกรที่จะได้รับการขุดสระ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพิจารณาเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ หรือพื้นที่ขุดสระของเกษตรกร อีกทั้งควรกำหนดมาตรการหรือระยะเวลาเพื่อควบคุมการบันทึก แก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูลของโครงการในระบบคู่มือฯ ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ทางราชการ

ข้อเสนอแนะต่อผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3

1. ควบคุม กำกับ ดูแลให้สถานีพัฒนาที่ดินในเขตความรับผิดชอบดำเนินการขุดสระน้ำให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน โดยกำหนดระยะเวลาขุดสระน้ำแล้วเสร็จให้สัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากสระน้ำเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 2. ติดตามประเมินผลการดำเนินการโครงการเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารโครงการ และให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในฐานะผู้กำกับดูแล

3. จัดให้มีการประชุมร่วมกันกับสถานีพัฒนาที่ดินภายในเขตรับผิดชอบเพื่อประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ รวบรวมปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติตามคู่มือการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือโครงการอื่นๆ เพื่อหาทางแก้ไขหรือกำหนดกิจกรรมควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทางราชการ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบ หากเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เสนอกรมพัฒนาที่ดินได้รับทราบและหาแนวทางแก้ไขในโอกาสต่อไป

4. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กรณีไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย กรณีไม่ได้นำเงินสมทบดังกล่าวนำฝากธนาคารตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2520 และกับช่างควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจงานจ้าง กรณีไม่ได้ตรวจหรือควบคุมงานหรือตรวจรับงานจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรหรือพื้นที่ขุดสระน้ำ หลังจากทำสัญญาจ้าง หากพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทำให้ราชการเกิดความเสียหายให้ดำเนินการทางละเมิดหรือดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. ควรจัดให้มีการอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ ดำเนินการตามโครงการ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือจัดให้มีการประชุมเพื่อรับทราบปัญหาในการปฏิบัติงานตามโครงการของแต่ละขั้นตอนตามคู่มือการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะเรื่องการเก็บเงินสมทบจากเกษตรกร เพื่อหาวิธีการเก็บเงินสมทบจากเกษตรกรให้เหมาะสม และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทางราชการ

ข้อเสนอแนะต่อผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

1. กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คู่มือการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และหนังสือสั่งการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เพื่อให้โครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุน และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 2. กำหนดกรอบเวลา ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อหาผู้รับจ้าง รวมถึงการส่งมอบงานเพื่อให้ การดำเนินโครงการแล้วเสร็จและใช้ประโยชน์ได้ทันก่อนวันเริ่มต้นฤดูฝน 3. พิจารณากำหนดเป้าหมายการขุดสระน้ำจากการจัดลำดับความสำคัญความเดือดร้อน ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร และสภาพพื้นที่ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกร เป็นไปอย่างเสมอภาค เป็นธรรมและทั่วถึง

4. ประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน เพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่นอกเขต ชลประทานที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ หรือแล้งซ้ำซาก เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการขุดสระน้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนอย่างแท้จริง 5. ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าที่หน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยให้รายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายไตรมาส เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งจัดให้มีการประชุมร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารโครงการ และให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ทันกาล เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางราชการ

บ่อจิ๋ว ปี 57-58 ขุดแล้ว 56,206 บ่อ ปี 60 จ่อขุดอีก 70,000 บ่อ

มีรายงานว่า สำหรับ “โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน” หรือ บ่อจิ๋ว ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล คสช. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลักดันให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน “บ่อจิ๋ว” ขนาดความจุ 1,260 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ ซึ่งเกษตรกรมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ มีความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ จำนวน 806,824 บ่อ โดยผลจากการดำเนินขุดสระน้ำตั้งแต่ปี 2548-2559 ทั้งสิ้น 374,839 บ่อ ยังเหลือความต้องการบ่อน้ำของเกษตรกรอีก จำนวน 431,985 บ่อ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81 ดำเนินการกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรม

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 356 ล้านบาท สำหรับการขุดบ่อจิ๋วเพิ่มอีก 20,000 บ่อ โดยแต่ละบ่อมีค่าใช้จ่ายในการขุด 20,300 บาท แบ่งเป็นรัฐบาลสนับสนุน 17,800 บาท และเกษตรกรเจ้าของที่ดินสมทบอีก 2,500 บาท โดยตั้งแต่ ต.ค. 57 - ก.ย. 58 รัฐบาลได้ดำเนินการขุดบ่อจิ๋วไปแล้วทั่วประเทศจำนวน 56,206 บ่อ สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ได้นำความต้องการของเกษตรกรเสนอตั้งเป็นคำของบประมาณเรียบร้อยแล้ว จำนวน 70,000 บ่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น