xs
xsm
sm
md
lg

ระยองจัดเวิร์กชอปรับฟังปัญหาลุ่มน้ำ ตอ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - จังหวัดระยอง เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รับฟังสภาพปัญหาลุ่มน้ำและแนวทางการแก้ไขภาคตะวันออก

วันนี้ (12 ก.ย.) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การรับฟังสภาพปัญหาลุ่มน้ำ และแนวทางการแก้ไข ภาคตะวันออก โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ครั้งที่ 5 เป็นครั้งสุดท้ายในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก

หลังได้รับข้อมูลจะนำเข้าสู่การวิเคราะห์และพิจารณายกร่างแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ก่อนเสนอคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของประเทศ ภายในเดือนตุลาคมนี้

โดยมี ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางมาร่วมสัมมนา ท่ามกลางผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 10 จังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายประชาชน และหน่วยราชการในพื้นที่ลุ่มน้ำจาก จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก สมุทรปราการ สระบุรี และ จ.ตราด

ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ชุดที่ 1 ดูแลลุ่มน้ำภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย และ จ.พิษณุโลก ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ประจวบคีรีขันธ์ และวันนี้ลงพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ครั้งสุดท้าย

ทั้งนี้ จ.ระยอง เป็นลุ่มน้ำภาคตะวันออก ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกง จุดประสงค์หลักในวันนี้เพื่อจะมาให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้คณะกรรมการได้รวบรวมเสนอทางรัฐบาล เพื่อกำหนดจุดยุทธศาสตร์เป็นแนวทางการแก้ไข

ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ จ.ระยอง ที่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีฯ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมยังผวาสถานการณ์น้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะเหมือนในปี 2548 ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้น ในภาพรวมปัจจุบันนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดประมาณ 58%

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ยังไม่หมดฤดูฝน ซึ่งในภาคตะวันออกจะหมดราวปลายเดือนตุลาคม จะทำให้น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอ แต่ในอนาคตคิดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ หากเราไม่เตรียมหาแหล่งน้ำ ซึ่งภาคตะวันออกมีทั้งด้านโรงงานอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ทำให้การใช้น้ำค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบันน้ำยังเพียงพออยู่

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวให้ความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรมที่ยังวิตกจะเกิดเหตุการณ์ขาดแคลนน้ำเหมือนในปี 2548 ว่า ในส่วนของกรมชลประทาน มีโครงการผันน้ำจากจันทบุรีมาระยอง ประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

และยังมีการผันน้ำมาจากพระองค์เจ้าไชยานุชิต มาที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปริมาณน้ำ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการช่วยเสริมศักยภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ และอ่างเก็บน้ำบางพระ ในการที่ช่วยเสริมภาคอุตสาหกรรมได้ และคาดว่าในปี 59 กรมชลประทานจะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ พื้นที่ ต.เขาชะเมา และต.เขาน้อย อ.เขาชะเมา จ.ระยอง

ขณะเดียวกัน ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จะเสริมความจุของอ่างโดยการเสริมสปิลเวย์ขึ้นไปอีกสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มอีกประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็นความจุปริมาณน้ำประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งอ่างเก็บน้ำดอกกราย ก็จะมีการเสริมความจุของอ่างเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ในฐานะประธานคณะทำงานลุ่มน้ำสาขาวังโตนด จ.จันทบุรี รองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก อดีตคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ประกอบด้วย จ.จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และ จ.ตราด คือ ให้ขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำตราด เนื่องจากตื้นเขิน ปรับปรุงผังเมืองทุกจังหวัด

กรณีการวางท่อระบายน้ำชุมชน ท่อลอดถนน การกำหนดบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนระบายน้ำลงแม่น้ำรวมทั้งการถมดินในแต่ละพื้นที่ จัดตั้งระบบเตือนภัย ระบบโทรมาตรในแม่น้ำสายหลัก พร้อมหน่วยเฝ้าระวัง ผลักดันการสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่กรมชลประทาน มีแผนศึกษาความเป็นไปได้แล้วในทุกจังหวัด การผันน้ำจากจันทบุรีมาระยอง ต้องทำตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทั้ง 2 จังหวัด เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น