xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ดึงเอกชนลงทุน BRT-ทางเดินยกระดับเชื่อมภายใน “ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ศึกษาออกแบบโครงข่ายเชื่อมการเดินทางภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ผุดรถ BRT ระยะทาง 13 กม.เชื่อมทั่วพื้นที่ 127.5 ไร่ และทำทางเดินขนาดใหญ่ พร้อมพื้นที่เชิงพาณิชย์ เชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับ BTS หมอชิต 1.5 กม. เล็งเปิดเอกชนลงทุน ส.ค.สรุปแบบรายละเอียดเสนอ ครม.เห็นชอบ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. สนข.ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ซึ่งย่านพหลโยธินมีพื้นที่ 2,325 ไร่ มีกิจกรรมหลากหลายทั้งศูนย์คมนาคมขนส่งกรุงเทพฯ โซนเหนือ ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปได้ทั่วประเทศ โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลาง ของระบบรถไฟสายสีแดง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย, รถไฟทางไกล และรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ความร่วมมือไทย-จีน, ไทย-ญี่ปุ่น, รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สถานีกำแพงเพชร, สถานีพหลโยธิน) และรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สถานีหมอชิต) ศูนย์กลางธุรกิจ (ตลาดนัดสวนจตุจักร) พื้นที่สวนสาธารณะ ที่พักอาศัย ส่วนราชการ (กระทรวงพลังงาน) และยังสวนสาธารณะและมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และมีระบบขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางของพื้นที่ในทุกกิจกรรม

ทั้งนี้ การออกแบบและวางผังเพื่อการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยศึกษาพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน (Zone D) ประมาณ 127.5 ไร่ โดยในการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับรถไฟฟ้าสีเขียวที่สถานีหมอชิต และรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน จะเน้นรูปแบบการเดิน ดังนั้นจะก่อสร้างเป็นทางเดินเชื่อมขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 40 เมตร โดยพื้นที่สองข้างทางเดินเชื่อมสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ (Transit Oriented Development : TOD) ระยะทางประมาณ 1.5 กม.

ส่วนการเดินทางภายในพื้นที่ ได้ออกแบบเป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลรอง รูปแบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างน้อยกว่า แนวคิดเดิมที่จะทำเป็นระบบโมโนเรล จะมีระยะทาง 13 กม. จุดขึ้นลงทั้งหมด 15 สถานี และยกระดับเมื่อตัดกับถนน ซึ่งเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และยังออกแบบ เส้นทางจักรยาน จุดจอดจักรยานและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับคนเดินเท้าและการขี่จักรยานร่วมด้วย

สำหรับการลงทุนนั้น เบื้องต้นภาครัฐควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนลงทุนระบบและเดินรถ เนื่องจากมีความคล่องตัว แต่หากไม่คุ้มค่า อาจจะให้หน่วยงานท้องถิ่นรับผิดชอบ ทั้งนี้จะมีการจัดสัมมนา Market Sounding ประมาณเดือน มี.ค. เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนด้วย โดยจะสรุปผลการศึกษารวมถึงการออกแบบรายละเอียด ในเดือน ส.ค. 2559 และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น