“ผ้ายกเมืองนคร” เป็นอีกหนึ่งมรดกเก่าแก่อันล้ำค่าของชาวนครศรีธรรมชาติ ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผ้าทอมือชั้นดีสวยงามด้วยลวดลายวิจิตร อันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมาจากโบราณ ในสมัยก่อนเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับบุคคลสำคัญ เจ้านายและข้าราชบริพารชั้นสูง ใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้าเป็นการแสดงสถานะของบุคคล
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผืนผ้ายกโบราณไม่มีการอนุรักษ์ไว้เกือบจะสูญหาย จนเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเข้ามาฟื้นฟูงานทอผ้ายกเมืองนคร จึงช่วยต่อลมหายใจที่กำลังจะหายไปให้กลับมาเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของชาวนคร
เพื่อเทิดพระเกียรติปีมหามงคล 2559 แห่งการเฉลิมฉลองวาระสำคัญ 3 ปีติ ได้แก่ ครบรอบ ๗๐ ปี ครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ ๘๘ พรรษา, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และองค์กรพันธมิตร จึงได้จัดทำโครงการ “ประชุมเมืองไทย อิ่มใจ ตามรอยพระราชดำริ” เพื่อตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้อมนำแนวทางมาปรับใช้ในการดำเนินงาน
พร้อมกันนี้ สสปน. ก็ได้จัดกิจกรรม “สืบสานมรดกไทยคู่แผ่นดิน สร้างศิลปินชาวบ้าน ตามรอยพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” โดยนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างลึกซึ้ง
เริ่มที่ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีรรมราช โดยมี ร.อ. ทรงวุฒิ วีระสุนทร หัวหน้าชุดประสานงาน โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง กล่าวต้อนรับ และนำชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ พร้อมถ่ายทอดการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
จากนั้น ดร.สุดาวรรณ์ มีบัว รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เล่าถึงประวัติของผ้ายกเมืองนครว่า มีความสัมพันธ์กับชีวิตของคนทออย่างไร “ผ้ายกเมืองนคร เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทอยกเพิ่มลวดลายด้วยเส้นพุ่งพิเศษ ทำให้เกิดลายนูนบนผืนผ้า เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่า สวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดี เป็นงานศิลปะหัตกรรมที่ทรงคุณค่าของเมืองคอน ซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ จึงเกิดการเผยแพร่ถ่ายทอดทางศิลปวัฒนธรรมของการทอผ้าพื้นบ้าน การทอผ้ายกดอกที่มีลวดลายสีสันวิจิตรงดงาม เริ่มทำในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แบบอย่างการทอผ้ามาจากแขกเมืองไทรบุรี
ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทอผ้ายกเมืองนครน่าจะรับเอาวิธีการทอยกดอกของชาวมาลายูผสมผสานกับความรู้เดิม เริ่มมีการนำทองทอตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 5 เพราะเศรษฐกิจดี ส่งผลให้ผ้ายกเมืองนครเป็นที่ต้องการของราชสำนัก
ผืนผ้ายกโบราณของเมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบันมีไม่มากนัก ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์หาดูได้ใน พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.นครศรีธรรมราช, ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาสวรมหาวิหาร สถาบันทักษิณคดี สงขลา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ปี พ.ศ.2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎร ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งค่อนข้างยากจน ทำอาชีพเกษตรกรรม เมื่อประสบกับปัญหาน้ำท่วมและดินเปรี้ยว ทำเกษตรได้ไม่ดี จึงทรงพระราชทานงานหัตถกรรมเพื่อเป็นอาชีพเสริม เช่น งานทอผ้าฝ้าย ฟื้นฟูงานหัตถกรรม
ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ายกไปฝึกสอนศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จนทอผ้ายกได้สำเร็จ พัฒนาฝีมือทอผ้ายกเมืองนครได้อย่างสวยงาม สมาชิกสามารถทอผ้ายกตามแบบราชสำนักที่ได้รับการฟื้นฟู ถูกต้องตามองค์ประกอบของผ้าโบราณซึ่งนำมาใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ในราชสำนัก
กลุ่มทอผ้า ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก ทางกองศิลปาชีพ สวนจิตรลดา จะจัดส่งด้ายผ้าฝ้ายมาให้ เมื่อทอเสร็จแล้วจะรวบรวมผ้าทอทั้งหมด ส่งกลับไปยังสวนจิตรลดา ส่วนประเภทที่ 2 เมื่อสมาชิกว่างจากการทอผ้า จะรวบรวมเงินเพื่อไปซื้อด้ายนำมาทอแล้วจำหน่ายให้กับกลุ่มอีกทีหนึ่ง ลายที่นิยมทอก็จะเป็นลาย ดอกไม้ ต้นไม้ เรขาคณิต ในส่วนของลายดอกไม้ ก็จะเป็น ลายดอกดาหลา ดอกพิกุล พิกุลดอกสร้อย และ พิกุลกรอบแก้ว
สำหรับการทอผ้าโขน เพื่อใช้ในการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปีนี้นั้น สุชาดา ม้าแก้ว ประธานกลุ่มทอผ้า กล่าวว่า ทางสวนจิตรลดาจะส่งเส้นด้ายและเส้นไหมทองมาให้ แล้วทางกลุ่มจะทำการทอผ้าส่งกลับไปให้ทางสวนจิตรลดา เพื่อนำไปตัดเป็นชุดโขน ซึ่งเป็นลายพุ่มข่าวบิณฑ์เล็ก จำนวนกว่า 500 ผืน ใช้คนทอกี่ละ 5-6 คน ผ้าแต่ละผืนจะมีความยาว 3.50 เมตร ส่วนลายดอกกลมก้านแย่ง จะทอเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ใช้ตัดเป็นฉลองพระองค์ในการทอดพระนตรโขนครั้งนี้
ฟังประวัติคร่าวๆ และชมผ้าสวยๆ แล้ว ก็พากันชอปกระเป๋าของกลุ่มแปรรูปกระจูด บ้านเนินธัมมัง ที่มีหลากหลายรูปทรง สีสันสดใส พร้อมร่วมเวิร์กชอปทำกระเป๋าใส่เหรียญกันอย่างสนุกสนาน
วันรุ่นขึ้น ชาวคณะได้เดินทางไปยัง อ.ลานสกา มุ่งสู่ ชุมชนบ้านคีรีวง ซึ่งว่ากันว่า อากาศดีที่สุดในประเทศไทย จนต้องสูดอากาศกันให้ชุ่มปอด บ้านคีรีวง เป็นชุมชนเก่าแก่ท่ามกลางขุนเขา โดยมี ทิมาทร ไชยบุญ หัวหน้ากลุ่มลายเทียน ให้การต้อนรับและเล่าถึงที่มาของการเขียนเทียนลงบนผืนผ้า แล้วนำไปย้อมเป็นสีต่างๆ โดยแต่ละสีที่นำมาย้อมนั้นได้มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น อย่าง สีแดง, ส้ม, ชมพู จะได้จากใบมังคุด, สีเขียว จากใบหูกวาง, สีน้ำตาล จากแก่นไม้ และ สีเหลือง จากแก่นขนุนและขมิ้น พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงาน โดย ทิมาทร ได้สาธิตวิธีการเขียนเทียนลงบนผืนผ้า ลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปโน่นนี่นั่น เห็นลายไหนสวย ก็จำๆ มาแล้วนำมาประยุกต์ใช้
ในอดีตการร่วมกลุ่มลายเทียนเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมจนกลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้สมาชิกของกลุ่ม ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่ชอบเรียน ว่างงาน สมาชิกในกลุ่มจะมี 15 คน มีรายได้ 7,000 บาท/เดือน ผ้าที่ได้จะจัดจำหน่ายไปยังร้านค้าในสนามบินนครศรีธรรมราช ตลาดนัดสวนจตุจักร เมืองทองธานี ประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้น บ้านคีรีวง ยังมีกลุ่มทำสมุนไพร และกลุ่มทำสบู่อีกด้วย
จะเห็นได้ว่างานศิลปาชีพแต่ละสาขา ล้วนเกิดจากพระราชดำริและพระวิริยะอุตสาหะทั้งสิ้น ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ภูมิภาคต่างๆ จะเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนและดูแลทุกข์สุขของราษฎรมิได้ขาด จึงนับเป็นบุญของพสกนิกร และแผ่นดินไทยที่ทรงมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นแม่ของแผ่นดินโดยแท้
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net