ปตท.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ หวังสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยจะขายหุ้นในบริษัทย่อยที่ ปตท.ถืออยู่กับ PTTGC-TOP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 ปีนี้ เผยเตรียมบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจถ่านหินในไตรมาส 4/58 หลังราคาถ่านหินดิ่ง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยจะพิจารณาโครงสร้างที่เหมาะสมควรเป็นเช่นใด คาดว่ามีความชัดเจนในปีนี้และดำเนินการแล้วเสร็จใน 1-2 ปีข้างหน้า
“ที่ผ่านมา ปตท.มีโครงสร้างการลงทุนซับซ้อน และหลากหลายทั้งโรงกลั่นและปิโตรเลียม โดย ปตท.เข้าไปถือหุ้นในบางบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี นับจากนี้จะพิจารณาว่าบริษัทย่อยๆ เหล่านี้มีธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับบริษัท Flagship ของ ปตท. ให้มาเป็นผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งการดำเนินการมีหลายรูปแบบเพื่อรองรับภาวะราคาน้ำมันที่ผันผวนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล, บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ เป็นต้น”
ส่วนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยยอมรับว่าไออาร์พีซีเพิ่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ฟินิกซ์ก็คงต้องรอให้เข้าที่เข้าทางก่อน แต่บริษัทย่อยๆ ของ ปตท.ที่กระจายกันอยู่ก็จัดการให้ไปอยู่ในบริษัท Flagship ของ ปตท. ทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไทยออยล์ และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ทำให้พัฒนาเป็นคลัสเตอร์และมีSynergy ร่วมกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าหลายบริษัทย่อยจะดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2559
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในไทยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และราคา LNG ตลาดจรได้ปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมันและการจัดหาได้ง่ายขึ้นกว่าอดีต ทำให้ ปตท.มีแผนจะปรับสัดส่วนการซื้อ LNG แบบสัญญาระยะยาวที่เคยวางไว้ 70% และราคาตลาดจร 30% เป็นการเพิ่มสัดส่วนราคาตลาดจรมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการศึกษาทำคลังเก็บ LNG เฟส 2 อีก 7.5 ล้านตัน จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลัง LNG ส่วนขยายเฟส 1 จาก 5 ล้านตันเป็น 10 ล้านตันเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง รวมทั้งก่อสร้างท่อก๊าซฯ เส้น 5 โดยปีนี้ ปตท.วางงบลงทุนไว้ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น ปตท. และบริษัทในเครือ ปตท.ที่ปรับตัวลดลง จนต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ทาง ปตท.จะมีการซื้อหุ้นคืนหรือไม่นั้น ทางกลุ่ม ปตท.ยังไม่ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว เว้นแต่ PTTGC ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซื้อหุ้นคืนอยู่
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 นี้ แม้ราคาน้ำมันดิบดูไบขณะนี้จะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 27 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เริ่มเห็นแหล่งผลิตน้ำมันบางแห่งทยอยหยุดไปเพราะไม่คุ้มการลงทุน แม้ว่าแหล่งผลิตตะวันออกกลางจะมีต้นทุนการผลิตระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เชื่อว่าประเทศเหล่านี้คงไม่ต้องการขายน้ำมันในราคาที่ต่ำเป็นเวลานาน และความต้องการใช้น้ำมันยังขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ปตท.ต้องเตรียมความพร้อมให้เข้มแข็งเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียในงบการเงินไตรมาส 4/2558 หลังจากราคาถ่านหินปรับตัวลดลงมา โดยการบันทึกด้อยค่าดังกล่าวคาดว่าจะอยู่บนพื้นฐานราคาถ่านหินที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดย ปตท.ยังมีผลกำไรจากการดำเนินงานงวดปี 2558
ขณะเดียวกัน ยังพิจารณาว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจดังกล่าวหรือจะแสวงหาโอกาสซื้อเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจถ่านหินก็มีการปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนมาตลอดจนปัจจุบันมีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยปีนี้ธุรกิจถ่านหินของ ปตท.ผลิตต่ำกว่า 10 ล้านตัน/ปี
ส่วนจะขายธุรกิจถ่านหินออกไปนั้นมองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากราคาถ่านหินตกต่ำและ ปตท.เองก็มีกระแสเงินสดมากถึง 1 แสนล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน แต่ ปตท.จะมองหาโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น
ในปีนี้ ปตท.ไม่มีแผนออกหุ้นกู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการลงทุน แต่จะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด โดยปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
***PTTGC เพิ่มงบลงทุน 5 ปี 5.4 พันล้านเหรียญ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศ โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ รวมทั้งโครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการ PO/Polyol ในมาบตาพุด และโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ (Map Ta Phut Retrofit) เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2558 คาดว่าจะมีผลขาดทุนจากสต๊อกผลิตภัณฑ์ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาในช่วงปลายปี 58 ขณะที่บริษัทยังคงมีสภาพคล่อง และมีกระแสเงินสดราว 4-5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในระยะต่อไป