“พาณิชย์” เตรียมชง ครม.ไฟเขียวร่างแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าอีกครั้งหลังปรับปรุงปิดจุดอ่อนได้หมด มั่นใจช่วยสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจได้แน่ ยืนหลักการเดิมรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย บอร์ดแข่งขันเป็นองค์กรอิสระเพื่อให้ปลอดการเมือง ธุรกิจใหญ่แทรกแซง พร้อมรื้อเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดใหม่
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ว่า ขณะนี้กรมฯ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว หลังจากถูกให้ทำการทบทวนมาแล้วหลายครั้ง โดยได้มีการปิดจุดอ่อนทั้งหมด ทำให้กฎหมายเป็นสากล สร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ คาดว่าจะเสนอให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ และน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ธ.ค. 2558 หาก ครม.อนุมัติก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยังคงแก้ไขให้นำรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่ให้มีข้อยกเว้นว่าการกระทำของรัฐวิสาหกิจที่ทำเพื่อความจำเป็นต่อการทำงานของรัฐบาล ประเทศ และประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาลจะไม่ถือว่าพฤติกรรมนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขัน แต่การทำธุรกิจของ ปตท.ตามปกติต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันกับเอกชนรายอื่นอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแล เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรเพื่อสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งทำให้ไม่สามารถปลอดจากการเมือง และอิทธิพลของภาคเอกชนรายใหญ่ได้
สำหรับการควบรวมกิจการ กำหนดให้ภาคเอกชนที่จะควบรวมกิจการกันสามารถดำเนินการได้เลย และเมื่อแล้วเสร็จต้องแจ้งให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทราบ เพื่อจะได้ตรวจสอบการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จากเดิมที่การควบรวมต้องแจ้งให้ทราบภายใน 60 วันก่อนการควบรวม ขณะที่เกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาดอาจปรับปรุงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน แต่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขในกฎหมาย เพราะสามารถออกเป็นกฎกระทรวงพาณิชย์ในภายหลังได้
ทั้งนี้ เกณฑ์อำนาจเหนือตลาดปัจจุบันกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่มีส่วนแบ่งในตลาดรวมกันตั้งแต่ 75% อาจต้องพิจารณาใหม่ เพราะรายที่ 3 อาจเป็นรายเล็ก มีส่วนแบ่งในตลาดเพียง 3-4% แต่เมื่อรวมกับ 2 รายแรกทำให้มีส่วนแบ่ง 75% ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมกับรายที่ 3 ที่ต้องถูกนำมารวมอยู่ในการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยการมีอำนาจเหนือตลาดไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้มีพฤติกรรมเอาเปรียบคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันจนทำให้คู่แข่งทำธุรกิจไม่ได้
ขณะเดียวกัน จะปรับบทลงโทษใหม่ โดยจะเพิ่มทางปกครองให้มากขึ้นและลดโทษทางอาญาลง ซึ่งโทษทางปกครอง เช่น การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย รวมถึงจะกำหนดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองข้อร้องเรียนของภาคเอกชนที่เสนอต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จากเดิมที่เมื่อมีการร้องเรียนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เลย บางครั้งเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลตามการร้องเรียนจึงมีคณะทำงานกลั่นกรองเพื่อลดการกลั่นแกล้ง และลดงานของคณะกรรมการฯ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างแก้ไขมาโดยตลอด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นำกลับมาทบทวนใหม่ เพราะยังมีข้อกังวลหลายประเด็น ประกอบกับมีร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหลายส่วนมีความคล้ายคลึงกัน จึงต้องการปรับปรุงให้ร่างใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้ สามารถดูแลการประกอบธุรกิจได้จริง