xs
xsm
sm
md
lg

IRPC รื้อแผนลงทุนต่อยอด “ฟินิกซ์” ใหม่ ยุติ 3 โครงการ-จ่อขายที่ดินเพิ่มเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไออาร์พีซี” ทบทวนการลงทุนใหม่ ตัดสินใจยุติการลงทุน 3 โครงการต่อยอดฟินิกซ์ ทั้งโพลีออล-BHD-สไตรีนโมโนเมอร์ หลังผลการศึกษาไม่คุ้มการลงทุน แต่ยังเดินหน้าโครงการที่เหลืออีก 3 โครงการ “พีพี-พาราไซลีน- AA/SAP” ส่วนที่ดินแถบบ้านค่าย และจะนะ รวม 4 พันไร่ อยู่ระหว่างศึกษาจะใช้ประโยชน์อย่างไร ชี้หากไม่สามารถทำได้ก็จ่อขายทิ้ง

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ทบทวนการลงทุนโครงการใหม่เพื่อต่อยอดโครงการฟินิกซ์ทั้ง 6 โครงการ เงินลงทุนรวม 6.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดบริษัทฯ ตัดสินใจที่จะเลือกลงทุนเพียง 3 โครงการเท่านั้น ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) กำลังการผลิต 3 แสนตัน/ปี เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) ภายใต้ฟินิกซ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิต PP รวม 7.75 แสนตัน/ปี

โครงการผลิตพาราไซลีน (PX) กำลังการผลิต 1.21 ล้านตัน ได้ขยายเพิ่มเป็น 1.8 ล้านตัน/ปี ได้มีการเจรจาดึง บมจ.ไทยออยล์ เข้ามาร่วมทุนด้วย นอกเหนือจาก บมจ.พีทีที โกบอล เคมิคอล (PTTGC) โดยจะนำรีฟอร์เมตจากไทยออยล์ และ PTTGC รวมกับอะโรเมติกส์ที่ได้จากโครงการ UHV มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพาราไซลีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2559 สำหรับที่ตั้งโรงงานนั้นอาจจะอยู่ในพื้นที่ไออาร์พีซีที่ อ.เชิงเนิน จ.ระยอง หรือนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง

โดยโครงการผลิตพาราไซลีนนั้นยังไม่รีบเร่งลงทุน เนื่องจากส่วนต่างราคาพาราไซลีนเทียบกับเบนซิน (สเปรด) ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 200 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน จากเดิมที่เคยอยู่สูงถึง 350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนคงรอให้ตลาดดีขึ้น สำหรับความต้องการพาราไซลีนยังโตต่อเนื่องโดยเฉพาะจีนยังไม่การนำเข้าอยู่

โครงการผลิตอะคริลิก แอซิด/ซูเปอร์ แอบซอฟเบนต์ พอลิเมอร์ (AA/SAP) กำลังการผลิต AA 1 แสนตัน/ปี และ SAP 8 หมื่นตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

สำหรับโครงการที่ตัดสินใจยกเลิกลงทุน เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน ได้แก่ 1. โครงการผลิตโพลีออล กำลังการผลิต 1 แสนตัน/ปี ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกสายโพลียูรีเทน เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตโพลีออลของไออาร์พีซีที่มีอยู่ 2.5 หมื่นตัน/ปี ก็ยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิต อีกทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เองก็มีการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นลงทุนโครงการผลิตโพลียูรีเทนในไทย

2. โครงการ Bio-Hydrogenated Diesel (BHD) 2 ล้านลิตร/เดือน เป็นไบโอดีเซลคุณภาพดี ซึ่งเดิมบริษัทเคยผลิตอยู่ แต่หน่วยการผลิตดังกล่าวเสียหายจากไฟไหม้หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา (VGOHT : Vacuum Gas Oil Hydro Treating Unit) เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 ทำให้ต้องหยุดผลิตไป ส่งผลให้ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อ BHD เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลหันไปลงทุนเอง จึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในส่วนนี้อีก และ 3. โครงการผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ (SM) 3.5 แสนตัน/ปี

เดิมการลงทุนโครงการใหม่เพื่อต่อยอดโครงการฟินิกซ์ทั้ง 6 โครงการนี้ ทางไออาร์พีซีได้เจรจากับพีทีที โกลบอล เคมิคอล เข้ามาร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากไออาร์พีซีมีการลงทุนฟินิกซ์โดยเฉพาะโครงการ UHV ที่ต้องใช้เงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาทที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ จึงไม่พร้อมที่จะลงทุนโครงการใหม่เองทั้งหมด ขณะเดียวกันทาง PTTGC ก็มีแผนลงทุนโครงการต่างๆในต่างประเทศได้แก่ โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐฯ โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่ร่วมทุนกับเปอร์ตามินา ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งโครงการลงทุนโพลียูรีเทนในไทยรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศด้วย

สำหรับที่ดินที่บ้านค่าย จ.ระยอง จำนวน 2 พันไร่ และที่ดินจะนะ จ.สงขลา อีก 2 พันไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนพัฒนาเป็นนิคมฯที่บ้านค่าย จ.ระยอง รองรับอุตสาหกรรมสีเขียว (Green industry) โดยได้รับในอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว แต่ในช่วงจังหวะนี้โอกาสเกิดไบโอพลาสติกเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงสู้พลาสติกที่ทำจากฟอสซิลไม่ได้ ส่วนที่ดินจะนะ เดิมจะพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม แต่สุดท้ายก็ยุติไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ก็อาจจะมีการขายออกไปให้กับผู้ที่สนใจลงทุนแทน

นายสุกฤตย์กล่าวต่อไปว่า ในไตรมาส 3/2558 กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ของบริษัทฯ จะต่ำกว่าไตรมาส 2/2558 เนื่องจากค่าการกลั่นในไตรมาสนี้อ่อนตัวลง แต่มาร์จินธุรกิจปิโตรเคมียังดีอยู่ และไตรมาสนี้อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงทำให้เกิดขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันบ้าง

ส่วนผลประกอบการทั้งปี 2558 บริษัทฯ จะมีรายได้รวมลดลงมากจากปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง และคงได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันไม่มากเหมือนปีที่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าราคาน้ำมันดิบสิ้นปีนี้จะปิดที่เท่าไร แต่ 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 8.06 พันล้านบาทเนื่องจากรับรู้รายการพิเศษเข้ามาจากการประมูลซื้อที่ดินจากทีพีไอ อะโรเมติกส์ และรายได้จากเคลมประกันภัยไฟไหม้หน่วย VGOHT ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3/2558

ทั้งนี้ ในปี 2559 ไออาร์พีซีจะไม่มีรายการพิเศษที่จะรับรู้เข้ามา แต่โครงการ UHV ที่แล้วเสร็จ ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม 3-4 พันล้านบาท/ปี รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งจะเร่งไปคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น 2-3 หมื่นล้านบาท คาดว่าหนี้ระยะสั้นจะหมดใน 3 ปีข้างหน้า

ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างไออาร์พีซี กับ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอลนั้น คาดว่าสิ้นปีหน้าจะมีความชัดเจนขึ้นซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวคงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มใน Synergy ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากนโยบายของบริษัทแม่ไม่มีการปรับลดพนักงานลงทำให้ต้นทุนอาจจะสูงขึ้น ดังนั้นการควบรวมต้องให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น