xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเห็นชอบควบรวม BECL-BMCL ชี้รัฐไม่เสียประโยชน์-เอกชนแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ควบรวม BECL-BMCL ฉลุย คมนาคมเห็นด้วยชี้รัฐ-ประชาชนได้ประโยชน์ เอกชนแข็งแกร่ง ไม่กระทบเงื่อนไขและภาระผูกพันในสัญญาเดิม เตรียมรวบรวมรายละเอียดเสนอ ครม.ตามขั้นตอนกฎหมาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่มีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือถึงการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มี พล.ท.วิวรรธน์ สุชาติ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบตามที่บอร์ด กทพ.ได้มีมติไว้ โดยได้ตรวจสอบเพิ่มเติมในประเด็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานเพิ่มเติม ซึ่งได้สรุปให้ กทพ.ไปดำเนินการตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีรายละเอียดเช่น กรณีการควบรวมระหว่าง BECL กับ BMCL เป็นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (Bangkok Expressway and Metro : BEM) จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐจาก BECL เป็น BEM เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันนี้จะส่งร่างสัญญาที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขแนบท้ายในสัญญาเดิม ให้ทางอัยการสูงสูดตรวจสอบคู่ขนานไปพร้อมกันด้วย

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่าง กทพ. กับ BECL และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ BMCL เพื่อสรุปนำเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบเรื่องการควบรวมตามขั้นตอนของกฎหมาย

ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอผลจากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอีกชุด ทั้งนี้ ในส่วนของเอกชนในทางกฎหมายสามารถดำเนินการควบรวมกิจการได้ตามขั้นตอนเนื่องจากบอร์ด รฟม. และ กทพ.ในฐานะคู่สัญญาได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว

ทั้งนี้ หลักของภาครัฐในการพิจารณากรณีการควบรวมกิจการของเอกชนนั้น จะต้องดูผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ภาพรวมของประเทศ ของประชาชน และการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เอกชนไทยในการต่อสู้กับต่างชาติได้ ในขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนต้องสูญเสียผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งกรณีควบรวมนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีการได้ประโยชน์เพิ่มจากเดิม ส่วนเงื่อนไข ภาระผูกพันตามสัญญาสัมปทานเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยจะได้รายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหน้าที่ของภาครัฐคือ ช่วยทั้งเอกชน และประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น