บอร์ด กทพ.เห็นชอบควบรวม BECL-BMCL เผยไม่กระทบสัญญาสัมปทานและรัฐไม่เสียประโยชน์ ขณะที่เอกชนจะมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่งเรื่องคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอน พร้อมเห็นชอบจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์การต่อสัญญาด่วนขั้น 2 “ประธานบอร์ด กทพ.” ยันบริหารเองดีกว่า ผลประโยชน์รัฐเพิ่มกว่าต่อสัมปทาน เดินหน้าสรรหาฯ ผู้ว่าฯ คนใหม่ให้ได้ตัวใน พ.ย. 58
พล.ท.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. มีมติเห็นชอบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เนื่องจากเป็นการควบรวมทางธุรกิจเพื่อให้มีความแข็งแกร่งทางการเงิน เพราะเมื่อควบรวมกันแล้วบริษัทจะใหญ่ขึ้น มีทุนมากขึ้น ข้อดีคือ จะทำให้สามารถประมูลแข่งขันโครงการขนาดใหญ่กับบริษัทต่างชาติได้ โดยหลักในการพิจารณาของบอร์ด กทพ.ดูในเรื่องข้อดี ข้อเสียในการควบรวม ไม่มีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานและการทำงานแต่อย่างใด และภาครัฐไม่เสียประโยชน์แต่อย่างใด รวมถึงข้อพิพาทต่างๆ จะไม่มีผลกระทบ ภาระทั้งหมดยังเป็นไปตามเดิม เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาจาก BECL เป็นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (Bangkok Expressway and Metro : BEM) ซึ่งจะต้องมีการทำเป็นภาคผนวกแนบท้ายสัญญาเดิม แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระสัญญาสัมปทาน โดยหลังจากนี้ กทพ.จะสรุปความเห็นชอบบอร์ด กทพ.รายงานไปยังคณะกรรมการกำกับสัญญาสัมปทานที่กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน
นอกจากนี้ ทาง BECL ได้เสนอเรื่อง การต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ-พระราม 9) ซึ่งเหลืออายุสัมปทานอีก 5 ปีนั้น บอร์ดได้มีมติตั้งแต่การประชุมบอร์ดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยให้ กทพ.ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย ในการต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องต่อสัญญา แต่เป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลที่มี โดยเห็นว่าหากครบสัญญา กทพ.บริหารจัดการเองจะได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากขณะนี้พนักงานเก็บค่าผ่านทางเป็นของ กทพ. ทำให้มีความพร้อมในการทำเองทุกอย่าง แต่ตามกฎหมายของ กทพ.จ้างที่ปรึกษาเพื่อดูข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบด้าน หากสรุปผลการศึกษาก็เสนอเข้ามาพิจารณาอีกที
“ทาง BECL ได้ขอควบรวมกิจการกับ BMCL มาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว ซึ่งบอร์ดประชุมพิจารณาเรื่องนี้มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพราะต้องการดูทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ดูทุกแง่ทุกมุม จึงใช้เวลา โดยหลักการพิจารณาของบอร์ด กทพ.คือ ดูในแง่ผลกระทบต่อคู่สัญญา ข้อดี ข้อเสีย และข้อพิพาท ซึ่งทางอัยการได้ให้ความเห็นว่าไม่มีผลกระทบ”
เร่งสรรหาผู้ว่าฯ กทพ. ตั้งเป้าเริ่มทำงาน พ.ย. 58
พล.ท.วิวรรธน์กล่าวถึงการสรรหาผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่ แทนนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าฯ กทพ.คนปัจจุบันที่จะครบเทอมการทำงานในเดือน พ.ย. 2558 นี้ว่า บอร์ดได้เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทรา เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยจะนำเกณฑ์เงื่อนไขคุณสมบัติการสรรหาฯ ที่กำหนดในปี 2550 และปี 2554 มาประกอบการพิจารณา ว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่ โดยหลักจะเน้นให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมสมัครได้มากที่สุด ทั้งภายในและภายนอก โดยกำหนดกรอบระยะเวลาสรรหาให้สรุปผลได้ก่อนเดือน พ.ย.นี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจหลายแห่งมักขาดผู้บริหารสูงสุดหรือผู้ว่าการช่วงหนึ่งกรณีที่ครบเทอม เป็นต้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานไหนที่ไม่มีผู้ว่าฯ ต้องรีบดำเนินการ ดังนั้น กทพ.จึงเริ่มกระบวนการสรรหา ส่วนกรณีเปิดสรรหาใหม่โดยไม่ต่อสัญญาให้นายอัยยณัฐนั้นเพราะต้องการมีผู้สมัครรายใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มในการพิจารณาหาบุคคลที่มีความสามารถเพื่อประโยชน์สูงสุดของ กทพ. หากนายอัยยณัฐมีความสามารถและผู้สมัครรายใหม่มีคุณสมบัติไม่เท่ากับผู้ว่าฯ เดิม ก็เป็นได้อีกสมัยไม่มีปัญหา